“แบงก์-น็อนแบงก์”รุกอีมันนี่ แข่งเดือดดึงลูกค้า/จ่อทะลุ100ล้านบัญชี

โมบายแบงกิ้ง

แบงก์-น็อนแบงก์ แห่เปิดบริการ “อีมันนี่” จ่อทะลุ 100 ล้านบัญชี “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินภาพรวมตลาดเงินอิเล็กทรอนิกส์ปีนี้โตต่อเนื่อง เหตุผู้ให้บริการมีมากราย-แข่งโปรโมชั่นหนัก คาดทั้งปีมูลค่าใช้จ่ายสะพัดเฉียด 3 แสนล้านบาท ฟาก “ธนาคารกรุงเทพ” เน้นพัฒนาโซลูชั่นตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรเป็นหลัก-ชี้ตลาดแข่งขันดุเดือดแย่งเจาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานจนถึง ณ 31 ส.ค. 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับและบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ประเภทเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) รวมทั้งสิ้น 27 ราย ซึ่งในปี 2563 มีผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 2 ราย ได้แก่ บริษัท เวล็อคซ์ ฟินเทค จำกัด และบริษัท สบาย มันนี่ จำกัด โดยมีจำนวนบัญชีใกล้ทะลุ 100 ล้านบัญชีแล้ว ขณะที่มูลค่าเติมเงินและมูลค่าการใช้จ่ายก็เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพลรองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจ e-Money มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากอานิสงส์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าในบางช่วงอาจมีการชะลอตัวลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง และจำนวนผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดกันมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของฐานการใช้จ่ายโดยรวมกว้างขึ้น ซึ่งคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะยังเห็นการแข่งขันทำโปรโมชั่นตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเปิดบัญชีและใช้จ่ายผ่านบัญชี e-Money หรือบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) กันมากขึ้น

“ศูนย์วิจัยประเมินปริมาณธุรกรรมการโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการด้วย e-Money ในปี 2563 จะอยู่ที่ 1,990-2,038 ล้านรายการ เติบโต 1.2-3.7% ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายจะอยู่ที่ราว 2.86-2.91 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 1.5-3.2% โดยเรามองว่าการแข่งขันในตลาด e-Money ยังคงเข้มข้นอยู่ และจะเห็นผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง ส่วนหนึ่งมาจากคนเริ่มคุ้นเคยการใช้ชำระเงินผ่านดิจิทัล (digital payment) กันมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการก็ต้องการขยายฐานลูกค้า” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจ e-Money มีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีจำนวนผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ประกอบกับการเปิดบัญชี e-Wallet ค่อนข้างง่ายและสะดวก มีโปรโมชั่นหลากหลายเมื่อเทียบกับการเปิดบัญชีธนาคารทั่วไปที่มีขั้นตอนยุ่งยากทำให้ผู้ประกอบการหันมาเจาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ตลาด e-Money จึงขยายตัวแบบก้าวกระโดดทั้งจำนวนบัญชีและยอดใช้จ่าย

“ธุรกิจ e-Money บ้านเราแตกต่างจากต่างประเทศ จะเห็นว่าในประเทศจีนและฮ่องกงจะมีผู้เล่นรายใหญ่ 2-3 รายเท่านั้น แต่ของไทยมีจำนวนผู้เล่นค่อนข้างมาก” นางปรัศนีกล่าว

นางปรัศนีกล่าวว่า สำหรับธนาคารกรุงเทพไม่ได้เน้นการแข่งขันในตลาดนี้ แต่จะเน้นช่วยลูกค้าองค์กรของธนาคารที่ต้องการโซลูชั่นแต่ไม่อยากลงทุนทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงลูกค้าที่ต้องการความปลอดภัย โดยธนาคารจะเข้าไปช่วยลูกค้าพัฒนาระบบ ซึ่งตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตรองค์กร 3-4 รายเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีรองรับเงิน e-Money หรือ e-Wallet โดยธนาคารจะพัฒนาฟีเจอร์ให้เหมาะสมกับลูกค้าองค์กรและฐานลูกค้าร่วมธุรกิจ

“ที่ผ่านมาธนาคารได้พัฒนาให้กับลูกค้าองค์กรหลายรายที่มีความต้องการ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยรูปแบบอาจจะพัฒนาเชื่อมต่อแบบ application to application หรือพัฒนาโซลูชั่นตามที่องค์กรธุรกิจต้องการ อาทิ ออกแบบเป็น e-Card เสมือนคูปอง และสามารถเปลี่ยนมือได้ หรือจะเชื่อมต่อเป็น e-Wallet สามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจ องค์กร ฐานลูกค้ารายย่อย และในอนาคตต่อยอดไปสู่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารได้” นางปรัศนีกล่าว