คปภ.เข้มบริษัทประกันปันผล ส่องดจ่ายงวดปี’63 หวั่น”โควิด”ลากยาว

สุทธิพล ทวีชัยการ
สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

คปภ.เข้มอนุมัติบริษัทประกันจ่ายเงินปันผล สั่งทดสอบภาวะวิกฤต-มอนิเตอร์ยิบ เผยปีหน้าส่อให้ “งด” จ่ายงวดกำไรปี”63 หนุนธุรกิจรักษาสภาพคล่อง-สร้างกันชนรองรับวิกฤต “โควิด-19” ลากยาว ฟากภาคธุรกิจชี้ควรปฏิบัติเหมือนกันทั้งระบบไม่เลือกรายบริษัท ด้าน “ไทยวิวัฒน์” ชี้อาจมีกระทบราคาหุ้นแต่ไม่รุนแรง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) คปภ. ได้กำชับให้สำนักงาน คปภ.ระมัดระวังการตรวจสอบ ก่อนจะอนุมัติให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินปันผล เพื่อรักษาสภาพคล่องและรักษาความมั่นคงของบริษัทประกันในอนาคต และในปี 2564 มีความเป็นไปได้ที่ทาง คปภ.อาจจะสั่งให้บริษัทประกันภัยงดจ่ายเงินปันผล จากกำไรสุทธิปี 2563 เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก กดดันกำไรธุรกิจประกันภัยลดลงไปมาก ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณในบางประเทศได้สั่งห้ามจ่ายเงินปันผลไปแล้ว

“สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ ทาง คปภ.ได้เข้มงวดบริษัทประกันต้องทดสอบภาวะวิกฤต (stress-test) โดยรวมผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและการเผชิญโรคระบาดชนิดใหม่เข้าไปทดสอบเพิ่มเติม จากสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยต่ำนาน เป็นต้น เพื่อไม่ให้กระทบต่ออัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จากผลทดสอบภาวะวิกฤต บางบริษัทรู้ตัว ก็ได้มีการขออนุมัติจ่ายเงินปันผลน้อยลงกว่าปีก่อน ๆ” นายสุทธิพลกล่าว

นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนามาตรฐานการกำกับ คปภ. กล่าวว่า การเข้มงวดตรวจสอบการอนุมัติจ่ายเงินปันผลนี้ สอดคล้องทิศทางนโยบายหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาแข็งแรง การจ่ายเงินปันผลออกไปอาจทำให้ความมั่นคงของบริษัทประกันลดลงได้ ซึ่งการจะระดมทุนกลับมาใหม่จะยิ่งยาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำนักงาน คปภ.มองก็คือ ต้องรักษาเงินเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นอีกยาว

“วิธีหนึ่งก็คือ ไม่ปล่อยเงินปันผลออกไป โดยการอนุมัติจ่ายปันผลเป็นอำนาจของสำนักงาน คปภ. ซึ่งจริง ๆ แล้วทำได้หลายวิธี เช่น หากเกิดวิกฤต แต่ไม่ถึงกับล้มกันทั้งระบบ สามารถพิจารณาเป็นรายบริษัทได้ เพราะความแข็งแรงและความเสี่ยงแตกต่างกัน แต่หากเกิดวิกฤตกระทบเศรษฐกิจภาพใหญ่และระบบประกันภัยโดยรวม อาจต้องสั่งห้ามจ่ายเงินปันผลทุกบริษัทเหมือนบางประเทศเพื่อดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งปกติแล้วบริษัทประกันในไทยจะขออนุมัติจ่ายปันผลแบบรายครึ่งปีและแบบรายปี” นางสาวชญานินกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันตามประกาศ คปภ.เรื่องแนวปฏิบัติในการขอรับความเห็นชอบการคำนวณผลกำไรของบริษัทเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทประกันชีวิต ต้องมีเงินกองทุน (CAR) มากกว่า 200% หลังจากหักจำนวนเงินปันผลและทดสอบภาวะวิกฤต และต้องมีอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัยมากกว่า 110% มีอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 3% อัตราส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก รวมถึงมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง 2 ปี รวมงวดบัญชีที่จ่ายปันผล

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจประกันภัยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หาก คปภ.มีคำสั่งห้ามบริษัทประกันจ่ายเงินปันผลก็จะต้องประกาศออกมาให้เหมือนกันทั้งระบบ เพราะหากกำหนดเฉพาะบางบริษัทจะเกิดคำถามของประชาชนตามมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้

“แนวทางนี้ถือว่าดี เพราะอนาคตต่อไปถ้าสถานการณ์เลวร้ายขึ้น อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงอาจจะมีผลกระทบรุนแรง ดังนั้น ถ้าอนุรักษนิยม (conservative) ก็ควรจะให้เก็บเงินส่วนนี้ไว้ก่อน เผื่อไว้เป็นกันชน (buffer) ในอนาคต” แหล่งข่าวกล่าว

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ (TVI) กล่าวว่า นโยบายของบริษัทที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้ คือ จะจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิเป็นประจำทุกปี ซึ่งหากประกาศห้ามจ่ายปันผลออกมาจริง อาจจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทได้ แต่คงไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม คงจะไม่มีปัญหากับผู้ถือหุ้น เนื่องจากสามารถนำประกาศของทางการไปอ้างอิงได้

ตารางกำไรบริษัทประกัน