พูลรับประกันแท็กซี่ส่อแป้ก 3 เดือนยังห่างเป้า 6 หมื่นคัน

รถTaxi

โครงการตั้งพูลกลางรับ “ประกันภัยรถแท็กซี่” ส่อแป้ก ! “ไทยรี” เผย 3 เดือนแรกเจอพิษ “โควิด” ระบาดหนักรถแท็กซี่เข้าทำประกันแค่ 2 พันคัน จากเป้าหมาย 6 หมื่นคัน “นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย” ถกสมาคมแท็กซี่แจงเหตุไม่ได้วิ่งรถ-เลือกไม่ทำประกันเหตุได้อนุโลมจากกรมการขนส่งฯไม่ต้องต่อทะเบียนชั่วคราว แถมเจอบริษัทประกันที่ไม่ได้ร่วมโครงการดัมพ์เบี้ยแข่ง

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (ไทยรี) ในฐานะผู้บริหารกองกลางโครงการรับประกันภัยรถแท็กซี่ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 ที่เริ่มโครงการรับประกันภัยรถแท็กซี่ พบว่ายังมีจำนวนรถเข้าร่วมไม่ถึง 2,000 คัน น้อยกว่าคาดมาก เพราะโครงการตั้งเป้าหมายรถแท็กซี่เข้าร่วมทั้งหมด 5-6 หมื่นคัน

ทั้งนี้ ปัญหาหลักเกิดจากช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การใช้งานรถน้อยลงไปมาก ทำให้ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เลือกไม่ทำประกันรถ และบางบริษัทไม่ได้ส่งข้อมูลเข้าระบบ เพราะเป็นช่วงทำงานที่บ้าน (work from home)

นอกจากนี้ นายโอฬาร ระบุว่ายังเห็นสัญญาณรถแท็กซี่ป้ายทะเบียนสีเหลืองและสีเขียวทยอยเลิกให้บริการกันไปพอสมควร

“ปัญหาคือ หากมีจำนวนรถเข้าร่วมโครงการน้อยมาก ๆ ก็มีโอกาสขาดทุนสูง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.-.ก.ย. 2563 น่าจะเริ่มเห็นจำนวนรถแท็กซี่เข้ามาทำประกันกันมากขึ้น จากสถานการณ์การใช้งานรถที่กลับมาวิ่งตามปกติแล้ว” นายโอฬารกล่าว

สำหรับโครงการรับประกันภัยรถแท็กซี่ เกิดจากผู้ประกอบการแท็กซี่หาผู้รับประกันภัยรถไม่ได้ เนื่องจากอัตราส่วนความเสียหาย (ลอสเรโช) เฉลี่ยสูงถึง 92% เพราะแท็กซี่ราว 30% เคลมประกันสูงถึง 300-400% ทำให้ภาพรวมบริษัทประกันขาดทุนหนักจนต้องบอกเลิกการรับประกัน

อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายรถแท็กซี่ต้องมีประกันคุ้มครองความรับผิดบุคคลภายนอกและผู้ขับขี่ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้หารือภาคธุรกิจจนเกิดการจัดตั้งกองกลาง (pool) โดยมี 8 บริษัทประกันวินาศภัย คือ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บมจ.ทิพยประกันภัย, บมจ.นวกิจประกันภัย, บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์, บมจ.เมืองไทยประกันภัย, บมจ.วิริยะประกันภัย, บมจ.สินมั่นคงประกันภัย และ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ เข้ามารับประกัน

ซึ่งกำหนดเบี้ยราคาเดียวที่ 12,500 บาทต่อคัน ใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจประเภท 3 ซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครองรับผิดบุคคลภายนอก ความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย 500,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกสูงสุด 400,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายไม่เกินคนละ 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลไม่เกินคนละ 50,000 บาท สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวม 5 คน รวมทั้งการประกันตัวผู้ขับขี่ 500,000 บาทต่อครั้ง

นายโอฬารกล่าวว่า ปัจจุบันมี 3 บริษัทที่พอร์ตรับประกันรวมมากกว่า 80% คือ วิริยะประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย และสินมั่นคงประกันภัย แต่ยังไม่มีรายงานยอดเคลมประกันเข้ามาอาจต้องรอหลังผ่านเดือน ก.ย.ไปแล้ว ทั้งนี้ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะเป็นแนวทางในการพัฒนาการรับประกันงานกลุ่มเสี่ยงสูงอื่น ๆ ต่อไป เช่น รถบรรทุกก๊าซ เป็นต้น

แหล่งข่าวจาก บมจ.วิริยะประกันภัยกล่าวว่า มีรถแท็กซี่เข้ามาทำประกันกับบริษัทประมาณ 3,000 คัน (ณ เดือน ก.ย. 63) ซึ่งยังไม่เห็นการเคลมประกันที่ผิดปกติแต่อย่างใด

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า ได้หารือกับทางสมาคมแท็กซี่แล้วได้รับข้อมูลว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้อนุโลมให้รถแท็กซี่ไม่ต้องต่อทะเบียนรถได้ชั่วคราวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เลือกจะไม่ทำประกัน ขณะเดียวกัน ช่วงโควิดยังเกิดอุบัติเหตุน้อยลงด้วย ลอสเรโชในช่วงครึ่งปีแรกจึงต่ำ ทำให้มีบริษัทประกันบางแห่งลดดอกเบี้ยลง ตัวแทนนายหน้าจึงเลือกส่งงานให้บริษัทดังกล่าว เพราะได้ค่าคอมมิสชั่นปกติที่ 18% ขณะเดียวกัน หากส่งให้บริษัทที่อยู่ในโครงการจะได้ค่าคอมมิสชั่นแค่ 5% ดังนั้น จึงไม่มียอดเข้ามาจากตัวแทนนายหน้า

“เราทำโครงการนี้ขึ้นมา เพราะเดิมผู้ประกอบการแท็กซี่เดือดร้อน หาซื้อประกันไม่ได้ หรือซื้อได้ก็ราคาเบี้ยแพงถึง 16,000-17,000 บาท แต่พอเราตั้งราคาเบี้ยประกัน 12,500 บาท ก็ไม่มาซื้อ อย่างไรก็ดี คงต้องรอสักพักให้มาตรการของกรมการขนส่งทางบกหมดลงไปก่อน” นายอานนท์กล่าว