แนวทางประเมินสภาพคล่องธุรกิจ SMEs เพื่อ “เราต้องรอด” (จบ)

ธุรกิจ SMEs
คอลัมน์ SMART SMEs
TMB Analytics

จากการที่แนวโน้มปีนี้ที่เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อหดหาย ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนมีรายได้ลดน้อยลงเป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจต่างต้องปรับตัวในยุค new normal ยิ่งทำให้การดูแลสภาพคล่องของธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ อาจจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือก “มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ” เพื่อช่วยบรรเทา ช่วยพยุงหรือช่วยเสริมสภาพคล่องได้อีกทางหนึ่ง

จากข้อมูลของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในช่วงเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการ SMEs มากถึง 78.9% ต้องการให้รัฐขยายระยะเวลามาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ในขณะที่ 59.6% ต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อดูจากเสียงสะท้อนของ SMEs และการสนับสนุนของภาครัฐ TMB Analytics ได้สรุปประเด็นและวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ดังนี้

1.มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประเมินแล้วว่าการทำธุรกิจยังมีปัญหาหลังจากประเมินข้อ 1 และ 2 แล้ว จำเป็นต้องปรึกษากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เพื่อช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับกระแสเงินสดของธุรกิจและแนวโน้มธุรกิจในช่วงต่อ ๆ ไป

2.มาตรการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เป็นนโยบายที่สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องได้อย่างดีในกรณีที่ธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs มีแผนจะใช้เงินทุน เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายกิจการ ไม่ควรรอให้ธุรกิจเข้าสู่สภาพวิกฤตแบบจวนตัวแล้วค่อยยื่นขอสินเชื่อ เพราะจะทำให้ขอสินเชื่อได้ยากขึ้น มีทางเลือกน้อยลงและถูกกดดันด้วยกรอบของเวลา ซึ่งหากผู้ประกอบการ SMEs วิเคราะห์สถานะงบการเงินของตัวเองแล้วมีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม ก็ควรวางแผนขอสินเชื่อตั้งแต่ตอนที่สถานการณ์ยังคงดีอยู่ และอยู่ในช่วงที่มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยโดยปกติ (2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี และไม่คิดดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก)

3.มาตรการลดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (credit term) สำหรับการซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการ SMEs มีอำนาจต่อรองระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้า ต่ำกว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ และระยะเวลา credit term ของภาคธุรกิจในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยในปี 2563 ระยะเวลา credit term ที่ SMEs ได้รับจากคู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มาอยู่ที่ 60 วันโดยเฉลี่ย และในบางธุรกิจขยายไปสูงถึง 120 วัน ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น สิงคโปร์ 29 วัน อินโดนีเซีย 34 วัน และไต้หวัน 45 วัน เป็นต้น

ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้า ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมักจะถูกขยายระยะเวลา credit term ให้ยาวนานขึ้นผ่านการใช้อำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า

ซึ่งในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดำเนินการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา credit term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30-45 วัน ซึ่งจะทำให้บริษัทรายใหญ่จ่ายสินเชื่อการค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs เร็วขึ้นทำให้ SMEs ได้รับอานิสงส์จากการที่จะได้กระแสเงินสดหรือสภาพคล่องเข้ามาเร็วขึ้นกว่าเดิม

4.มาตรการการจ้างงานสำหรับเด็กจบใหม่ จำนวน 2.6 แสนคน รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกอบการ SMEs 50% โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถจ้างผู้ที่จบการศึกษาในปี 2562-2563 ระยะเวลาในการจ้าง 12 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 ซึ่งมีข้อกำหนดคือปริญญาตรีจ่ายเงินสมทบไม่เกิน 7,500 บาท, ปวส.จ่ายไม่เกิน 5,550 บาท, ปวช.ไม่เกิน 4,700 บาท ซึ่งหากธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs มีความจำเป็น หรือต้องการจ้างงานทดแทน หรือเพิ่มเติม นโยบายนี้จะช่วยสามารถลดต้นทุนด้านบุคลากร และเป็นผลดีต่อสภาพคล่องของธุรกิจได้ระดับหนึ่ง

5.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง แต่ก็สามารถช่วยกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ๆ ที่เป็นภาระหนี้ส่วนบุคคลได้ คือ การให้ลูกหนี้นำหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ เช่น รถยนต์ แต่ต้องเป็นเจ้าหนี้ในธนาคารเดียวกัน หรือเจ้าหนี้ในเครือ มาปรับโครงสร้างหนี้รวมกับสินเชื่อบ้านได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกันสินเชื่อบ้านที่เหลืออยู่ ซึ่งช่วยให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงได้

หากท่านผู้ประกอบการ SMEs สามารถวางแผนการบริหารสภาพคล่องให้เหมาะสม ประกอบกับการสนับสนุนช่วยเหลือของรัฐผ่านมาตรการต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสดีที่จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถประคองธุรกิจและเสริมความพร้อมที่จะเติบโตธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 บรรเทาลง ซึ่งไม่ว่าผู้ประกอบการ SMEs จะดำเนินธุรกิจการค้าอะไร การประเมินสภาพคล่องให้สอดคล้องกับภาวะธุรกิจเพื่อนำไปวางกลยุทธ์การปรับตัวจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ และสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจได้ เพื่อ “เราต้องรอด”