บสย. รับลูก ค้ำสินเชื่อ SMEs “เปราะบาง” เคลมได้ 50%

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ

บสย. รับลูก กกร. อุ้มเอสเอ็มอีจ่อออกโปรดักต์ค้ำประกันใหม่เคลมได้สูงสุด 50% เน้นช่วย “กลุ่มเปราะบาง” เร่งให้ กกร.จัดกลุ่มผู้ประกอบการตามระดับความแข็งแรงของธุรกิจ ฟากคลังชี้โครงการค้ำประกันเฟสใหม่ต้องรอเริ่มปีงบประมาณ 2564 ก่อน เหตุปีงบประมาณ 2563 รัฐอุดหนุนจนเต็ม “กรอบวินัยการเงินการคลัง” ไปแล้ว กระทุ้งรัฐบาลผ่อนเกณฑ์วินัยชั่วคราวรับมือวิกฤต หวั่นปีหน้าซ้ำรอยเดิม

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ถึงข้อเสนอที่ให้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่มการชดเชยความเสียหาย (max claim) จาก 30% เป็น 50% อย่างไรก็ดี เงื่อนไขดังกล่าว คงช่วยได้เฉพาะกลุ่ม ไม่สามารถช่วยทุกกลุ่มได้ จึงให้ทาง กกร.กลับไปเลือกกลุ่มเอสเอ็มอีตามระดับความแข็งแรง เพื่อเลือกกลุ่มที่สมควรจะได้รับการค้ำประกันสูงสุด 50% เช่น กลุ่มเปราะบาง อาจจะให้การค้ำประกันสูงสุด 50% กลุ่มที่แข็งแรงก็ลดลงมาเหลือ 40-30% เป็นต้น

รักษ์ วรกิจโภคาทร
รักษ์ วรกิจโภคาทร

“เราได้ให้ กกร.เป็นผู้เลือกกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความเปราะบางออกมา เพื่อให้ บสย.ช่วยค้ำประกันสูงสุดถึง 50% โดยการช่วยค้ำประกันในครั้งนี้จะทำผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS9) คาดว่าจะออกมาในงบประมาณปี 2564 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะเข้ามาดูแลเอสเอ็มอีไม่ให้เป็นหนี้เสีย”

นายรักษ์กล่าวด้วยว่า บสย.ยังมีทางเลือกในการสกัดหนี้เสียเอสเอ็มอีอีกหนึ่งช่องทาง โดยได้ขอใช้งบประมาณวงเงิน 5-6 หมื่นล้านบาท จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ในส่วนของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสัญญาณสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 4.05% มาอยู่ที่ 14% ที่มีมูลค่าสินเชื่อรวมประมาณ 7 แสนล้านบาท

“วงเงิน 5-6 หมื่นล้านบาทดังกล่าวจะสามารถช่วยเอสเอ็มอีที่กำลังจะตกชั้นจาก SM ที่มีอยู่ 7 แสนล้านบาทไปเป็นเอ็นพีแอลได้มากกว่าครึ่ง หรือราว 3.6 แสนล้านบาท โดยขณะนี้ได้มีการเสนอโครงการไปที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แล้ว หากเห็นชอบก็จะมีการเสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า เมื่องบประมาณปี 2564 ออกมา บสย.จะมีวงเงินก้อนใหม่ เพื่อใช้ทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ซึ่งในรายละเอียด ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมว่าจะมีการปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันส่วนใดหรือไม่

“จะมีการคุยกันกับ บสย.เร็ว ๆ นี้เรื่องการออกแบบ PGS9 เพื่อให้ตอบโจทย์เอสเอ็มอี เนื่องจากโครงการ PGS8 ก่อนหน้านี้ ทำในช่วงที่อยู่ในภาวะปกติ ส่วนการออก PGS9 เป็นการดูแลเอสเอ็มอีหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคงต้องใช้ปัจจัยนี้มาประกอบการพิจารณา”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการค้ำประกันใหม่ของ บสย. PGS9 วงเงิน 2 แสนล้านบาท มีการเสนอขอให้กระทรวงการคลังอนุมัติมาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่เนื่องจากปีงบประมาณ 2563 มีการใช้กรอบการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาลจนเต็มตามกรอบของกฎหมายวินัยการเงินการคลังไปแล้ว จึงจำเป็นต้องรอปีงบประมาณ 2564 เนื่องจากเพื่อเริ่มปีงบประมาณใหม่ก็จะนับกรอบวินัยการเงินการคลังใหม่

“ถ้าจะให้เกิดความคล่องตัวในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในภาวะวิกฤต พวกกรอบวินัยการเงินการคลังอาจจะต้องรื้อใหม่หมด ไม่อย่างนั้นปีหน้าก็จะเจอสถานการณ์แบบเดียวกันอีก เพราะรัฐบาลคงต้องอุดหนุนรัฐวิสาหกิจในการทำโครงการช่วยเหลือประชาชนอีกมาก แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลด้วยว่าจะกล้าทำหรือไม่”