KTC รุกจำนำทะเบียนเต็มสูบ ตั้งทีมปล่อยกู้แบบดีลิเวอรี่

ทะเบียนรถ

“เคทีซี” ปักธงธุรกิจใหม่ “จำนำทะเบียนรถ” โตก้าวกระโดด ชูกลยุทธ์ส่งทีมม้าเร็ว “พี่เบิ้ม ดีลิเวอรี่” ลุยรับสมัคร-อนุมัติสินเชื่อให้บริการลูกค้าถึงที่ ตีกรอบผู้กู้มีรายได้ 8 พันบาทขึ้นไป ไม่ติดเครดิตบูโร ตั้งเป้าปีนี้ชิมลางปล่อยกู้ 200 ล้านบาท ปีหน้าหวังโต 1 พันล้านบาท

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดธุรกิจใหม่สินเชื่อทะเบียนรถยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ ภายใต้ชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ซึ่งได้ทดลองตลาดปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 100 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะปล่อยได้ 200 ล้านบาท ส่วนปี 2564 ตั้งเป้าขยายสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท

เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี
เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี

ทั้งนี้ ลูกค้าทุกกลุ่มทุกอาชีพสามารถเข้าถึงสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ได้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ เจ้าของกิจการ พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีสัญชาติไทย อายุ 20-65 ปี รายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป ซึ่งต้องผ่านการทำงานไม่ต่ำกว่า 4 เดือน ส่วนเจ้าของกิจการ พ่อค้าแม่ค้า ต้องดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ทั้งนี้จะต้องไม่ติดเครดิตบูโร

สำหรับสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ ผู้ขอสินเชื่อต้องใช้ทะเบียนเล่มจริงที่มีชื่อตนเองเป็นเจ้าของมายื่น พร้อมนำรถยนต์เข้าตรวจสภาพ ซึ่งไม่จำกัดอายุรถ วงเงินอนุมัติสูงสุด 7 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 0.98% ต่อเดือน หรืออัตราดอกเบี้ย 21% ต่อปี แบบลดต้นลดดอก ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 60 เดือน ส่วนสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ ไม่จำกัดอายุรถ วงเงินอนุมัติสูงสุด 1.5 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1.13% ต่อเดือนหรืออัตราดอกเบี้ย 24% ต่อปี แบบลดต้นลดดอก ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 60 เดือน

“อัตราดอกเบี้ยจะวิ่งตามอายุรถ เช่น อายุรถ 20 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ 36% ต่อปี เรายืนยันรับรถทุกยี่ห้อ ไม่ต้องโอนเล่ม โปะปิดได้ก่อนกำหนด ไม่มีค่าปรับและค่าธรรมเนียมใด ๆ อย่างไรก็ดี คาดหวังหนี้เสีย (NPL) จะต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล” นางสาวเรือนแก้วกล่าว

ทั้งนี้ จุดแข็งของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะแตกต่างคู่แข่งในตลาด เนื่องจากใช้เครือข่ายช่องทางขายของเคทีซีในการรุกตลาด มุ่งเน้นให้บริการรับสมัครและอนุมัติสินเชื่อถึงที่ผ่าน “พี่เบิ้ม ดีลิเวอรี่”

ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนให้บริการอยู่กว่า 100 ราย แทนการขยายสาขา โดยสามารถอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้าได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือตามจุดนัดพบที่ลูกค้าสะดวก เช่น ร้านกาแฟ, ห้าง ไม่เว้นวันหยุด และทราบผลการอนุมัติได้รับเงินโอนเข้าบัญชีทันทีภายใน 2 ชั่วโมง

ส่วนกระบวนการทำงานจะใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับคนในการให้บริการสินเชื่อ (digital twin) ด้วยการรับสมัครผ่านระบบแอปพลิเคชั่นบนแท็บเลต ซึ่งจะอนุมัติยอดวงเงินแบบ automate ตามข้อมูลจริงของลูกค้า ล่าสุดได้ร่วมกับ “ลาล่ามูฟ” เปิดให้ผู้ขับขี่รถเครือข่ายถึงสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อเงินสดได้แล้ว อย่างไรก็ดี ยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยรีเฟอร์ลูกค้ามาให้ ซึ่งตอนนี้นำร่องไปแล้วกว่า 20 สาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล และเฟสถัดไปจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจของเคทีซีต่อไป

“การบริหารความเสี่ยงเรามีการปรับปรุงลูกค้าอยู่เป็นระยะ ซึ่งสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ ลูกค้าจะต้องนำเล่มมาฝากไว้ที่เรา ถ้าลูกค้าไปแจ้งความเล่มหายถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนหากเป็นหนี้เราจะดำเนินการฟ้องร้อง แต่ส่วนใหญ่เราจะมีการเจรจาเรื่องทรัพย์สินกันมากกว่า” นางสาวเรือนแก้วกล่าว

ปัจจุบันภาพรวมตลาดสินเชื่อทะเบียนรถ มียอดสินเชื่อคงค้างในระบบ 1.38 แสนล้านบาท จำนวนกว่า 3..3 ล้านบัญชี โดยผู้เล่นคือผู้ให้บริการทางการเงิน แต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) มีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ 75% และที่เหลือเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีความท้าทายสูง

“แต่ด้วยการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก โครงสร้างการทำธุรกิจ ระบบบริการงาน เครือข่ายเคทีซี จะช่วยให้เราก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นหลักได้ โดยเราเป็นหน่วยงานใหม่ที่ทำงานในลักษณะสตาร์ตอัพ รวมตัวทีมงาน 6 คน จากหน่วยงานต่าง ๆ ของเคทีซี ซึ่งไม่ได้แยกออกเป็นบริษัทลูก ตามแผนกลยุทธ์การเป็นองค์กรคล่องตัว (agile) มีอิสระ คิดและทำงานได้เร็ว” นางสาวเรือนแก้วกล่าว

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจหลักทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของเคทีซีเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น ถึงเวลาที่บริษัทจะต้องขยายธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ โดยตั้งทีมขึ้นมาบริหารงานและไม่แยกออกเป็นบริษัทลูกเน้นการทำงานแบบสตาร์ตอัพ ซึ่งเชื่อว่าทีมงานนี้จะต้องเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และหวังว่าวันหนึ่งธุรกิจนี้จะโตเท่ากับธุรกิจหลักในปัจจุบันหรือโตกว่านั้นได้ เพราะแนวโน้มธุรกิจนี้มีศักยภาพเติบโตรวดเร็ว