ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ covid-19 ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 23 กันยายน 2563 ค่าเงินบทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 31.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/9) ที่ระดับ 31.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในช่วงเช้านี้ จากการเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ covid-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ

ทั้งนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้มีการแถลงการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐของปัจจุบันว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐนั้นกำลังฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมไปถึงเน้นย้ำความจำเป็นในการใช้นโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดความเสียหายในระยะยาวจากผลกระทบ covid-19

ซึ่งเฟดได้แถลงการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ main street lending โดยเฟดจะปล่อยกู้วงเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ภาคธุรกิจที่ไม่ได้รับสินเชื่อจากช่องทางอื่น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศวันนี้ (23/9) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีตามที่ตลาดคาดการณ์

ทั้งนี้ กนง.ได้มีการปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยจากการคาดการณ์เดิมที่ระดับ -8.1% สู่ระดับ -7.8% จากปัจจัยหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ และจะกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของไทยที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและยืดเยื้อ จะส่งผลต่ออุปสงค์ต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 9 ล้านคนในปี 2564 ดังนั้น กนง.จึงได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 3.6% ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ระดับ 5%

นอกจากนี้ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการแถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนสิงหาคม โดยการส่งออกไทยมีมูลค่า 20,212.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงที่ระดับ -7.94% จากที่คาดการณ์ว่าจะหดตัว -13% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -19.68% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.36-31.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (23/9) ที่ระดับ 1.1685/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/9) ที่ระดับ 1.1738/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากปัจจัยผู้ติดเชื้อ covid-19 เพิ่มสูงขึ้นทั้งประเทศในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร

เมื่อวานนี้ (22/9) นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้แถลงการณ์มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 หรือมาตรการล็อกดาวน์โดยเริ่มตั้งแต่พฤหัสบดีนี้ (24/9) และมีโอกาสที่จะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการรวมจากสถาบัน Markit ที่ระดับ 47.6 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ ณ ระดับ 51.0 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่่ในกรอบระหว่าง 1.1670-1.1718 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1714/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 105.12/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/9) ที่ระดับ 104.56/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการรวมจากสถาบัน Markit ที่ระดับ 47.3 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ ณ ระดับ 48 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.88-105.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.97/105.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีจากสถาบัน GfK เดือนตุลาคม (23/9), การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย (2/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนี เดือนกันยายน (23/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของอังกฤษ (23/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ เดือนกันยายน (23/9), จำนวนผู้ที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (24/9), ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐเดือนสิงหาคม (24/9), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือนสิงหาคม (25/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -.015/-.005 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.3/4.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ