ตีปี๊บประกัน “ผู้ป่วยเบาหวาน” เร่งศึกษากรมธรรม์-เจาะกลุ่มมีกำลังซื้อ

โรคเบาหวาน

ประกันรุกออกโปรดักต์ขยายความคุ้มครองคนมีโรคประจำตัว เฟสแรกเริ่มเจาะผู้ป่วย “เบาหวาน” ก่อน เหตุเป็นโรคที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ “ซิกน่าประกันภัย” เล็งปีหน้าเริ่มออกกรมธรรม์ได้ “พรูเด็นเชียล” ชี้เทรนด์รับประกันกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังมีมากขึ้น ขณะที่ “อลิอันซ์” นำประสบการณ์จาก “อินเดีย” ที่ทำประกันสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานไปแล้วมาใช้กับประเทศไทย ฟาก “เมืองไทยประกันชีวิต” ชี้โปรดักต์ “เบาหวานเบทเทอร์แคร์” เน้นเจาะลูกค้าระดับรายได้สูง เหตุเบี้ยยังแพง

นายธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซิกน่าประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทกำลังศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับคุ้มครองกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว โดยจะเจาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานก่อน เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่สามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งการกินยา กินอาหาร และการพักผ่อน ซึ่งคาดว่าปีหน้า (ปี 2564) จะมีความชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ การรับประกันลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอาจต้องนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามาช่วยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะไม่อย่างนั้นค่าเบี้ยประกันจะสูงมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง จึงต้องแลกกับการที่ผู้เอาประกันช่วยดูแลตัวเอง มีการบันทึกข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อบริษัทประกันจะออกแบบความคุ้มครอง และจำกัดค่าเบี้ยประกันให้ถูกลงได้

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากดูแลสุขภาพดีมากเท่าไหร่ ค่าเบี้ยประกันก็จะยิ่งลดลง กล่าวคือถ้าผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เราก็ไม่ปฏิเสธที่จะให้ความคุ้มครอง แน่นอนว่าความเสี่ยงอาจจะสูง แต่ถ้าเราเลือกคนป่วยที่สมัครใจจะดูแลสุขภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การกิน และการออกกำลังกาย เราเชื่อว่าสามารถนำเสนอโปรดักต์ให้เขาได้ เป็นการเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงและช่วยแบ่งเบาภาระให้เขา” นายธีรวุฒิกล่าว

ขณะที่นายอามัน คาพัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานช่องทางการจัดจำหน่าย บมจ.พรูเด็นเชียลประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการรับประกันกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังจะเริ่มเห็นมากขึ้น และเป็นสิ่งที่บริษัทสนใจและกำลังศึกษาเพื่อลงไปเล่นในตลาดนี้ แม้ว่าจะมีสัดส่วนค่าสินไหมทดแทนต่อค่าเบี้ยประกันภัยสูง (high loss ratio) แต่เป็นสิ่งที่บริษัทประกันต้องบริหารจัดการ โดยประเด็นสำคัญที่บริษัทประกันจะต้องมอง คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในราคาที่เข้าถึงได้

“เรากำลังมองกลุ่มคนป่วยหลาย ๆ กลุ่ม และดูโซลูชั่นต่าง ๆ ทั้งกระบวนการพิจารณารับประกันว่าจะรับประกันกลุ่มใดได้ก่อน ซึ่งอาจจะโฟกัสความต้องการลูกค้าธนาคารพันธมิตรเป็นหลัก เนื่องจากพอร์ตส่วนใหญ่ของเราเป็นลูกค้าแบงก์แอสชัวรันซ์ (ช่องทางการขายประกันผ่านธนาคาร) ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดประกันสุขภาพเป็นเซ็กเมนต์ที่บริษัทให้ความสนใจจะขยายการเติบโต แม้จะยังไม่ใช่พอร์ตใหญ่ แต่จากนี้ไปจะเพิ่มสัดส่วนของพอร์ตเร่งตัวขึ้น สวนทางสินค้าประกันออมทรัพย์” นายอามันกล่าว

นายไบรอัน สมิธ ผู้จัดการประจำประเทศไทย อลิอันซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการรับประกันผู้ที่เคยเป็นโรค โดยทำงานร่วมกับกลุ่มอลิอันซ์ทั่วโลกเพื่อร่วมกันพิจารณาสถิติผู้ป่วยคนไทย ว่ากลุ่มใดที่บริษัทจำเป็นจะต้องเข้าไปรับประกันเป็นกลุ่มแรก ซึ่งที่ผ่านมาอลิอันซ์ในประเทศอินเดีย ได้มีการเปิดตัวโปรดักต์ประกันสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานไปแล้ว เนื่องจากพบว่าสถิติผู้ป่วยเบาหวานของคนอินเดียมีค่อนข้างสูง จึงมีความต้องการเป็นจำนวนมาก

นายปราโมทย์ ศักดิ์กำจร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า การประกันสุขภาพยุคใหม่จะไม่มองการช่วยเหลือลูกค้าที่ไม่เป็นโรคเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป จึงเห็นหลายบริษัทประกันเข้ามาดูแลกลุ่มผู้ป่วยกันมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นภาพการกระตุ้นให้คนป่วยดูแลตัวเองที่ดี เพื่อกลับมาอยู่ฝั่งคนไม่ป่วยได้ โดยที่ผ่านมาบริษัทมีโปรดักต์ “เบาหวานเบทเทอร์แคร์” ที่คุ้มครองผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งได้รับรางวัลจาก Asia Forum ในด้านนวัตกรรม

“ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาซื้อกรมธรรม์แล้วหลายร้อยราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อ เนื่องจากเบี้ยประกันยังค่อนข้างสูงตามความเสี่ยงของโรค มีค่าใช้จ่ายการตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ทุก 6 เดือน เฉลี่ย 300-500 บาทต่อครั้ง มีระยะเวลาเอาประกันภัย 2 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ย 2 ปี ซึ่งจะชำระเบี้ยทุก 6 เดือน สอดรับกับผลระดับน้ำตาลสะสมในเลือด หากลดลงเบี้ยประกันจะลดลงตามไปด้วย” นายปราโมทย์กล่าว


ตารางสถานการณ์ผู้ป่วยเบาหวาน