ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง คลาดยังกังวลสถานการณ์โควิด

เงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (23/9) ที่ระดับ 31.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ยังคงปรับตัวขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดอย่างหนักในยุโรป และความล่าช้าในการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ

อีกทั้งไอเอชเอสมาร์กิต บริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยคืนวานนี้ (23/9) ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.4 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน และลดลงจากระดับ 54.6 ในเดือนสิงหาคม

มาร์กิตระบุอีกว่าภาคธุรกิจของสหรัฐได้ลดความเชื่อมั่นทางธุรกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากปัจจัยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาว่าด้วยวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ในสภาคองเกรสคืนนี้ (24/9)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวานนี้ (23/9) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% และยังไม่มีมาตรการทางการเงินอื่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ตลาดยังคงกังวลสถานการณ์การเมืองที่จะมีการชุมนุมประท้วงในเย็นวันนี้ (24/9) ที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ตลาดรอติดตามมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มเติม โดยระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.54/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/9) ที่ระดับ 1.1675/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันพุธ (23/9) ที่ระดับ 1.1713/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดยังคงกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุโรป พร้อมกันกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำ

นอกจากนี้ นายบาเรนด์ เลย์ตส์ โฆษกของนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป เปิดเผยว่า นายมิเชลตัดสินใจเลื่อนการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (EU ออกไปจากเดิมวันที่ 24-25 กันยายน เป็นวันที่ 1-2 ตุลาคม เนื่องจากนายมิเชลต้องกักตัวหลังได้พบปะเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อโควิด-19

โดยการประชุมครั้งนี้กลุ่มผู้นำ EU จะหารือเรื่องการเป็นตลาดเดียว (Single Market) นโยบายอุตสาหกรรม การเปลี่ยนสู่ดิจิทัล และความสัมพันธ์กับประเทศนอก EU รวมถึงตรวจสอบทบทวนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยวันนี้ (24/9) ได้แก่ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีประจำเดือนกันยายน (German IFO Business Climate) อยู่ที่ระดับ 93.4 จากระดับ 92.5 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1635/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1637/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/9) ที่ระดับ 105.38/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/9) ที่ระดับ 104.94/97 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ  ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดเผยว่างทาง BOJ จะพิจารณาต่ออายุมาตรการสนับสนุนฉุกเฉินสำหรับบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ออกไปจากกำหนดเดิมในเดือนมีนาคม 2564

นายคุโรดะกล่าวว่า BOJ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามเป้าหมายที่เคยตกลงไว้ร่วมกับคณะทำงานของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อเดือนมกราคม 2556 โดย BOJ ได้ให้คำมั่นสัญญาในเวลานั้นว่าจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินเพื่อผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้ดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.19/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.36/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (24/9), ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ เดือนสิงหาคม (24/9), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เดือนสิงหาคม (25/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศ อยู่ที่ +0.10/+.020 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +4.50/+5.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ