เกียรตินาคินภัทร แนะขายรัฐวิสาหกิจ-ขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

"บรรยง พงษ์พานิช" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน

เกียรตินาคินภัทร แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน วางแผนใช้หนี้สาธารณะในอนาคต ชี้ขายรัฐวิสาหกิจ-คิดภาษีนิติบุคคล 25% เพิ่มรายได้ ลดหนี้สาธารณะ

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า การออกมาตรการมาดูแลประชาชนในช่วงโควิด-19 รัฐบาลควรที่จะต้องทำภายใต้แนวทาง 5 อย่าง ประกอบด้วย 1.ต้องใหญ่ เพียงพอสู้วิกฤต 2.ทันเวลา 3.ดูแลตรงเป้า 4.โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 5.ต้องเป็นมาตรการชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวมองว่ายังไม่ตอบโจทย์ โดยพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเกือบ 2 ล้านล้านบาท ที่ออกมา ยังใช้วงเงินได้ไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ดูแล

“โครงสร้างเดิมของไทยมีระบบข้อมูลไม่มากพอ ทำให้ออกแบบมาตรการยาก ทำให้มาตรการต่างๆ เป็นเพียงลูกปืน และไม่เต็มที่ บางมาตรการออกมาช้า แต่มาตรการที่ออกแบบหลายมาตรการก็ยังเป็นสิ่งที่ดีอยู่ เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน แจกเงิน 5,000 บาท ดูแลประชาชน แต่ที่น่ากังวลคือมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่มีกว่า 1 หมื่นกว่าโครงการ เสนอเข้ามาให้สภาพัฒนาการและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา ขออนุมัติเงินรวมกว่า 4-5 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้เงินก็ยังไม่ได้อนุมัติ ซึ่งยังไม่มีเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง”

ฉะนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้ธนาคารมีแรงจูงใจที่จะรับเงื่อนไขซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยอมรับว่า รัฐต้องเข้าไปรับความเสี่ยงมากขึ้น ผ่านข้อเสนอ ดังนี้

1. ให้รัฐเพิ่มวงเงิน พ.ร.ก.กู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาดูแลประชาชน แม้จะส่งผลต่อระดับหนี้สาธารณะ 70% ก็ไม่เป็นไร ถ้ามีมาตรการชัดว่าจะใช้แนวทางใดบ้าง ในการใช้หนี้ในอนาคต

2. ขอให้รัฐขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็น 25% ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้ เพื่อนำไปใช้หนี้สาธารณะ โดยไม่เกิดวิกฤตหนี้ ได้กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ

และ 3. ขายรัฐวิสาหกิจบางส่วน เช่น ปตท. และการท่าอากาศยาน จะส่งผลให้มีรายได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ กว่า 2 ล้านล้านบาท โดยในประเทศที่พัฒนาไปแล้วก็มีการใช้นโยบายรูปแบบเช่นนี้

“ในภาพใหญ่ในการเกิดวิกฤตเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย องค์กร สังคม ประเทศชาติ จะต้องมีพร้อมรับแรงกระแทก พร้อมที่จะปรับตัวตามความผันผวน ความคล่องตัวเป็นความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีความคล่องตัวแย่ เช่น การออกมาตรการ มีชื่อโครงการประกาศออกมาแล้ว แต่การดำเนินการไม่ไปถึงไหน ซึ่งควรจะมีการลดรัฐลงไป ลดทั้งขนาดงบประมาณ เมื่อวิกฤตผ่านพ้น และลดอำนาจ

เช่น กฎหมายมีอยู่หลายแสนฉบับ, ลดรัฐวิสาหกิจ ควรปล่อยทรัพยากรให้ตลาด เพื่อให้ตลาดกำหนดทรัพยากร และต้องการเงินไปช่วยลดหนี้สาธารณะ ควรปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง เหมือนกับในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำท่าจะทำอย่างจริงจัง”