ธปท. รับมือสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ บี้แบงก์เร่งแก้หนี้ SMEs 1 ล้านราย

แบงก์ชาติพร้อมรับมือวิกฤตหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ 22 ต.ค.นี้ เผยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าโครงการพักหนี้กว่า 1 ล้านราย สั่งแบงก์ปูพรมคุยลูกหนี้ทุกรายสกัด “ตกหน้าผาหนี้” พร้อมเคลียร์ทางเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็น “เอ็นพีแอล” ยืนยันไม่ต่อมาตรการ “พักหนี้” แบบทั่วไป กระทุ้งแบงก์เร่งต่อชีวิตธุรกิจโรงแรม เตรียมแก้เงื่อนไขซอฟต์โลน 5 แสนล้านให้ลูกหนี้เข้าถึงมากขึ้น

จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งการออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท และการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้

มาตรการหลังสิ้นสุดพักหนี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ว่า มาตรการระยะแรกที่ ธปท.ออกมาเน้นดูแลทุกกลุ่มเป็นมาตรการทั่วไป ให้ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจในเรื่องของสภาพคล่อง แต่หลังจากนี้สิ่งที่สถาบันการเงินและ ธปท.เห็นร่วมกันคือ ต้องมุ่งเน้นดูแลกลุ่มลูกหนี้เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน ไม่ได้เปิดกว้างแบบทั่วไป จะเป็นมาตรการที่สถาบันการเงินหารือกับลูกหนี้ ว่ากลุ่มไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งที่ ธปท.เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับเรื่องปรับโครงสร้างหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้มีหลายแบบ ยืดหนี้-พักหนี้ชั่วคราว-ผ่อนปรนดอกเบี้ย เจรจากับลูกหนี้เป็นราย ๆ แต่สิ่งที่สำคัญต้องตอบโจทย์ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ในแง่ลูกหนี้จะต้องปรับโครงสร้างหนี้สอดรับกับรายได้ของลูกหนี้หลังโควิด-19 เพราะหากปรับโครงสร้างหนี้ไม่สะท้อนกับรายได้ที่แท้จริง จะเกิดปัญหาอีก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ธปท.พยายามให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสียหลังหมดมาตรการพักหนี้

“เจ้าหนี้รับทราบและมีวิธีการไปคุยกับลูกหนี้ให้ครบทุกรายก่อน 22 ต.ค.นี้ เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และก็ได้ประสานงานดูแลกับธนาคาร เพื่อให้แน่ใจว่ามีการติดต่อกับลูกหนี้ และหลังวันที่ 22 ต.ค.นี้จะต้องดูแลเรื่องอะไรต่อหลังจากมาตรการเยียวยาจะจบลง เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรจะเกิด cliff effect ทุกคนจะตกลงจากหน้าผา ปัจจุบัน ธปท.รับรู้ผลกระทบตรงนี้ แม้ว่าบางเซ็กเตอร์ลูกหนี้ได้กลับมาชำระได้ปกติ แต่มีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ท่องเที่ยว เป็นต้น”

ธปท.อุ้มแบงก์หวังส่งต่อลูกหนี้

รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีมาตรการช่วยเหลือจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (pre-emptive) ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย ทั้งการช่วยในเรื่องนการจัดชั้นลูกหนี้ กรณีลูกหนี้จัดชั้น 2 หรือชั้น 3 (stage 2, 3) สามารถกลับมาจัดชั้นหนี้ปกติได้ ทำให้ภาระการตั้งสำรองของธนาคารลดลง เรื่องดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำมาก รวมทั้งการให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.46% เหลือ 0.23% สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการลดต้นทุนลดภาระให้ธนาคาร โดย ธปท.ก็คาดหวังว่าธนาคารจะส่งต่อให้ลูกหนี้ ซึ่งเป็นแรงจูงใจเพื่อให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น และในแง่ลูกหนี้ประวัติจะไม่เข้าไปอยู่ในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ก็ยังถือว่าเป็นหนี้ปกติ

“เราคุยกับแบงก์และลูกหนี้ตลอด เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่ามาตรการในการสร้างแรงจูงใจเพียงพอหรือไม่ และมีมาตรการอะไรที่ยังเป็นอุปสรรค เพราะถ้าเราไม่เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันนี้ อนาคตก็จะเกิดปัญหากับลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ เพราะลูกหนี้จะไหลเป็นหนี้เสียในอนาคต ขณะเดียวกันก็ช่วยสถาบันการเงินในระยะยาว เพราะถ้าไม่เร่งทำอะไรกับลูกหนี้กลุ่มนี้จะเป็นภาระแบงก์ในอนาคตได้ แต่ต้องสร้างความสมดุลให้ดี โดยต้องรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินด้วย เพราะจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป”

ยันไม่มี “พักหนี้” แบบทั่วไป

สำหรับกรณีภาคเอกชนขอให้มีการพักชำระหนี้ต่ออีก 2 ปี นายรณดลกล่าวว่า สถาบันการเงินเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องดูแลสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเป็นตัวที่ช่วยเหลือลูกหนี้ได้ในอนาคต ดังนั้นการจะพักหนี้เป็นการทั่วไปต่ออีก จะมีผลกระทบต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ทำให้เกิดความเปราะบางได้ดังนั้นจะต้องเลือกเป้าหมายของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจริง และลูกหนี้ที่ยังเดินไปได้ โดยใช้กระบวนการเจรจากับลูกหนี้เป็นราย ๆ ไป ว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ดูความเป็นไปได้ และธนาคารต้องดูเอง เพราะธนาคารจะรู้จักลูกหนี้ตัวเองดีที่สุด เพราะบางรายสามารถเดินต่อไปได้ แต่บางรายที่กระทบจริง ๆ ก็ต้องมีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อจะให้เดินต่อไปได้

“การเจรจาจะทำเป็นเซ็กเตอร์หรือลูกหนี้เป็นราย ๆ ก็คงต้องอยู่ที่แบงก์ ดังนั้นคงไม่เจาะจงเซ็กเตอร์ใด ลูกหนี้รายใด คิดว่าแบงก์ประเมินได้หลังจากมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อดูแลใกล้ชิด เพราะเข้าไปดูแลลูกหนี้ทุกราย รายไหนที่เดินได้ และรายไหนที่ต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งแบงก์ดำเนินการอยู่”

เตรียมพร้อมต้นน้ำ-ปลายน้ำ

นอกจากนี้นายรณดลกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่ามาตรการพักหนี้ นั้นภาระหนี้ของลูกหนี้ยังอยู่และเพิ่มขึ้น ดังนั้นการพักไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต สิ่งสำคัญคือต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ ขณะที่แบงก์เองแม้ว่าจะไม่กระทบรายได้เพราะยังมีดอกเบี้ยค้างชำระอยู่

ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องมีการตั้งบริษัทบริหารหนี้เสียเพื่อมารับหนี้เสียออกจากแบงก์หรือไม่นั้น นายรณดลกล่าวว่า ขณะนี้ลูกหนี้กลุ่มใหญ่นี้ยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย ซึ่งวันนี้เอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินยังอยู่ที่ 3% นิด ๆ ขณะนี้ยังไม่จำเป็น แต่ ธปท.ก็เตรียมเมนูเซตที่ดูแลกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ช่วยดูแลครบวงจร เป็นสิ่งที่ ธปท.แน่ใจว่ากลไกต่าง ๆ สามารถทำงานได้หากเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น

บี้แบงก์ต่อชีวิตธุรกิจโรงแรม

นายรณดลกล่าวว่า อย่างไรก็ดีกลุ่มที่ ธปท.กำลังติดตามใกล้ชิดคือกลุ่มที่หลักประกันสูง หรือ LTV ต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม ทำไมกลุ่มนี้มีการยื่นขอซอฟต์โลนเข้ามาน้อย ซึ่งทาง ธปท.ก็ได้ส่งรายชื่อลูกหนี้กลุ่มนี้ไปให้ธนาคารต่าง ๆ ดูว่าทำไมไม่มาใช้ซอฟต์โลน เหตุผลคืออะไร หรือกระบวนการภายในธนาคารมีปัญหาอุปสรรคอะไร เป็นเพราะลูกหนี้อาจจะยังไม่อยากกู้ หรือเป็นเพราะความเสี่ยงที่ลูกหนี้อาจมีมากกว่าที่คิดไว้ ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้

“เราอยากฟังเหตุผลของแบงก์ก่อนว่า เหตุผลที่ไม่ให้ซอฟต์โลนเพราะอะไร เพราะลูกหนี้แต่ละคนมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ตอนนี้เราพยายามเจาะกลุ่มโรงแรมก่อน เพราะธุรกิจโรงแรมบางกลุ่มอยู่ในพื้นที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ เจ้าหนี้ก็ไม่อยากจะปล่อยกู้ ลูกหนี้ก็ไม่อยากกู้ เพราะโรงแรมปิดอยู่ หรือแบงก์เข้มเกินไป ซึ่งถ้าเข้มเกินไปก็ต้องไปดูแลกัน เพราะถ้าลูกหนี้เกิดไหลกลายเป็นหนี้เสียทั้งก้อนก็จะเป็นปัญหากับแบงก์ แต่ถ้าแบงก์ช่วยลูกหนี้ก็อาจจะไปรอดได้ ก็ต้องดูแลบริหารความเสี่ยงของแบงก์กับศักยภาพของลูกหนี้”

นายรณดลกล่าวว่า เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาทาง ธปท.ได้ออกโครงการ DR. BIZ ที่เปิดให้ลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายสถาบันการเงินเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็มีเมนูเซตออกมาเป็นมาตรฐานชัดเจน ดอกเบี้ยควรจะเป็นเท่าไร ระยะเวลาเป็นเท่าไร และยืดหนี้เท่าไร เป็นเมนูที่ทำให้การเจรจาทำได้คล่องตัวขึ้น รวดเร็วขึ้น และลูกหนี้ที่เจ้าหนี้รายเดียวก็สามารถใช้เงื่อนไขนี้ในการเจรจา อย่างไรก็ตามขณะนี้โครงการก็ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร ก็ต้องไปคุยกับสถาบันการเงินว่าปัญหา/อุปสรรคอยู่ตรงไหน

ปลดเงื่อนไขปล่อยกู้ซอฟต์โลน

ขณะที่ความคืบหน้าในการปล่อยกู้ซอฟต์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2%) 5 แสนล้านบาทของแบงก์ชาติซึ่งเปิดโครงการตั้งแต่ 23 เม.ย. 2563 นายรณดลยอมรับว่า ยังมีความล่าช้า โดยขณะที่มีการปล่อยกู้ไปเพียง 1.16 แสนล้านบาท ให้กับลูกนี้ 69,362 รายจากวงเงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาท โดยขณะนี้ ธปท.ได้มีการพูดคุยกับธนาคารถึงอุปสรรคในการปล่อยกู้ซอฟต์โลน กำลังหาแนวทางอยู่

ทั้งนี้ การจะแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน จะต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลัง และต้องออกเป็น พ.ร.บ.แก้ไข ซึ่งต้องผ่านสภา 3 วาระ ต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่ทำได้เลยก็คือการแก้ประกาศของ ธปท.ในเรื่องของนิยาม “ลูกหนี้” ใหม่ ซึ่งเดิมกำหนดว่า ต้องไม่เป็นเอ็นพีแอลตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2562 ก็อาจจะปรับแก้ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถเข้าถึงเงินกูมากขึ้น เรื่องนี้กำลังพิจารณาอยู่ รวมถึงในส่วนปรับเงื่อนไขการชดเชยความเสียหายให้แบงก์ ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็สามารถออกประกาศเพิ่มเติมได้

ยันไม่ปรับเกณฑ์ LTV

นายรณดลกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ ธปท.ผ่อนปรนเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า มาตรการ LTV เป็นมาตรการที่ออกมาดูแลปกป้อง โดยเฉพาะคนต้องการมีบ้านหลังแรกได้ซื้อบ้านในราคาที่สมเหตุสมผล ป้องกันพฤติกรรมเงินทอน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้รับฟังความคิดเห็นและมีการผ่อนปรนมาตรการหลาย ๆ เรื่อง เช่น บ้านหลังแรกให้ปล่อยเท่ามูลค่าบ้าน 100% และแถมอีก 10% ให้กับการซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือบ้านหลังที่ 2 มูลค่าบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาท ขอให้มีเงินดาวน์ 10%

แต่หากต้องการบ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาท ก็จะต้องมีเงินส่วนตัวด้วย เพราะเป็นการซื้อเพื่อการลงทุน ไม่อยากให้เกิดภาระหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของ affordable risk คือมีภาระหนี้มากเกินจนไม่มีเงินเหลือในการดำรงชีพ

“เราต้องแยกแยะมาตรการของเรา หากจะให้ผู้กู้บ้านหลังแรกได้กู้บ้านในราคาที่เหมาะสม และไม่มีเรื่องวัฒนธรรมเรื่องของเงินทอน จำเป็นจะต้องมีมาตรการ LTV เพื่อให้ราคาสะท้อนกับตลาด แต่พูดถึงหลังที่ 2 นอกเหนืออยู่อาศัยเป็นเรื่องการลงทุน แค่มีเงิน 10-20% เป็นเงินดาวน์เพื่อให้แน่ใจว่าจะชำระหนี้ได้ เพราะถ้ามีเหตุการณ์ช็อกขึ้นมา จะสร้างภาระกับระบบเศรษฐกิจ เรื่องของระบบเสถียรภาพพอสมควร”