กังวลระบาดโควิด หนุนดอลลาร์ฟื้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน 2563

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/9) ที่ระดับ 31.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/9) ที่ระดับ 31.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจามาตรการกระตุ้นด้านการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าจากการเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้แถลงการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐนั้นกำลังฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รวมไปถึงเน้นย้ำความจำเป็นในการใช้นโยบายทั้งด้นการเงินและการคลังเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดความเสียหายในระยะยาว จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเฟดได้แถลงการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ main street lending โดยเฟดจะปล่อยกู้วงเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ภาคธุรกิจที่ไม่ได้รับสินเชื่อจากช่องทางอื่น สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.4 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน และลดลงจากระดับ 54.6 ในเดือนสิงหาคม

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่ายอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.8% สู่ระดับ 1.011 ล้านยูนิตในเดือนสิงหาคม สูงกว่าระดับคาดการณ์ว่าจะลดลง 1% ส่วนกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 870,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 840,000 ราย โดยตลาดยังจับตาดูเรื่องการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่ยังมีความขัดแย้งระหว่างนโยบายของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน และสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ในส่วนของค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันแรกของสัปดาห์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ไปอยู่ที่ 30.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งคาดว่ามาจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ไม่ได้ยืดเยื้ออย่างที่นักลงทุนกังวลอย่างไรก็ดีในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจนแตะระดับ 31.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิดระลอกสอง ทั้งนี้ ในการประชุม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีตามที่ตลาดคาดการณ์

ทั้งนี้ กนง.ได้มีการปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์เดิมที่ระดับ -8.1% สู่ระดับ -7.8% จากปัจจัยหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ และจะกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของไทยที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและยืดเยื้อ จะส่งผลต่ออุปสงค์ต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 9 ล้านคนในปี 2564

ดังนั้น กนง.จึงได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 3.6% ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ระดับ 5% นอกจากนี้ตลาดยังจับตาดูประเด็นการเมืองในประเทศเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมทางการเมืองที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.95-31.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐและปิดตลาดในวันศุกร์ (25/9) ที่ระดับ 31.54/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (21/9) ที่ระดับ 1.1858/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร (19/9) ที่ระดับ 1.1857/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรอ่อนค่าต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในหลายประเทศของยุโรป ตั้งแต่เดนมาร์กไปจนถึงกรี เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากปัจจัยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งประเทศในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร

โดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้แถลงการณ์มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือมาตรการล็อกดาวน์โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้ (24/9) และมีโอกาสที่จะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการรวมจากสถาบันมาร์กิตออกมาที่ระดับ 47.6 ต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ ณ ระดับ 51.0

ขณะที่นายบาเรนต์ เลย์ตส์ โฆษกของนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป เปิดเผยว่า นายมิเชลตัดสินใจเลื่อนการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ออกไปจากเดิมวันที่ 24-25 กันยายน เป็นวันที่ 1-2 ตุลาคม เนื่องจากนายมิเชลต้องกักตัวหลังได้พบปะเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยการประชุมครั้งนี้กลุ่มผู้นำ EU จะหารือเรื่องการเป็นตลาดเดียว (Single Market) นโยบายอุตสาหกรรม การเปลี่ยนสู่ดิจิทัล และความสัมพันธ์กับประเทศนอก EU

รวมถึงตรวจสอบทบทวนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (24/9) ตัวเลขความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีประจำเดือนกันยายน (German IFO Business Climate) อยู่ที่ระดับ 93.4 จากระดับ 92.5 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1625-1.1871 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/9) ที่ระดับ 1.1649/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/9) ที่ระดับ 104.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรับ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/9) ที่ระดับ 104.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในยุโรป และสหรัฐยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจามาตรการกระตุ้นด้านการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคระบาดดังกล่าว แต่ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

โดยในวันพุธ (23/9) ญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการรวมจากสถาบันมาร์กิตที่ระดับ 47.3 ต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ ณ ระดับ 48 ขณะที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (ฺBOJ) ได้เปิดเผยว่า ทาง BOJ จะพิจารณาต่ออายุมาตรการสนับสนุนฉุกเฉินสำหรับบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ออกไปจากกำหนดเดิมในเดือนมีนาคม 2564

นายคุโรดะกล่าวว่า BOJ ยังคงมุ่งที่จะดำเนินการตามเป้าหมายที่เคยตกลงไว้ร่วมกับคณะทำงานของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อเดือนมกราคม 2556 โดย BOJ ได้ให้คำมั่นสัญญาในเวลานั้นว่าจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินเพื่อผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้ดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.99-105.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/9) ที่ระดับ 104.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ