ธอส. ชี้ยอดหนี้เสียยุคโควิด ต่ำกว่าวิกฤตปี’40

ธอส. เผยยอดหนี้เสียยุคโควิด ต่ำกว่าวิกฤตปี’40 ที่อยู่ระดับ 25% ชี้ปัญหาหนี้ยุคโควิดไม่เลวร้าย ฐานดอกเบี้ยเอื้อคนกลับมาแข็งแรง พร้อมบริหารจัดการ คัดกลุ่มลูกค้าร่วมมาตรการพักหนี้ต่อ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สินเชื่อในระบบของธอส. 100% เป็นสินเชื่อบ้าน ที่อยู่ระดับราคาเฉลี่ย 5 ล้านบาท ซึ่งมีพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 1.3 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ากว่า 10 มาตรการ มีลูกค้าเข้าร่วมกว่า 6.8 แสนบัญชี มูลค่ารวมกว่า 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวน 2 ใน 3 ของลูกค้าในพอร์ตธอส. ที่เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือของธนาคารยังคงเป็นลูกค้าที่แข็งแรง มีเพียง 1 ใน 3 ของพอร์ตเท่านั้นที่เริ่มมีอาการอาจจะไม่แข็งแรง

“เรียนตามข้อเท็จจริงว่า เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ Social distancing ทุกคนเปิดให้ลูกค้าเข้ามาร่วมมาตรการทั้งหมด โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ทำให้ลูกค้าเข้ามากว่า 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น คือ มาตรการที่ 5 ของธนาคาร หรือการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับลูกค้ามีหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยสิ้นสุดในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้าร่วมกว่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านมา 2 เดือน กลุ่มดังกล่าวขอเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ต่ออีก 3 เดือน จำนวน 1 แสนคน และเหลืออีก 8 หมื่นล้านบาท ที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการ โดยภายใต้จำนวนดังกล่าว ในสิ้นเดือนที่ผ่านมา มีลูกค้าที่ลุกขึ้นจ่ายหนี้ได้ 7.6 หมื่นล้านบาท มีอยู่ 9 พันล้านบาท ที่มีปัญหา”

สำหรับจำนวน 9 พันล้านบาท ที่มีปัญหานั้น แบ่งเป็น 4 พันล้านบาท เป็นการจ่ายแบบไม่เต็มงวด และที่เหลือ 5 พันล้านบาท ขาดการชำระหนี้ คิดเป็นเพียง 10% ที่ครึ่งหนึ่งยังไหวแต่จ่ายไม่ครบงวด จากเดิมที่ธนาคารได้คาดการณ์ว่าจะมีปัญหากว่า 25% เมื่อเทียบกับในปี 2450 ที่ธนาคารมี NPL สูงถึง 25%

“ในความเห็นของธอส. มองว่า ปัญหาหนี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และบรรยากาศของดอกเบี้ย ต่างจากในช่วงปี 2540 ที่ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านขณะนั้น 12% ซึ่งเราไม่มีทางกู้ซื้อบ้านได้ แต่ในตอนนี้ดอกเบี้ยเหลือเพียง 3% ซึ่งฐานดอกเบี้ยต่ำมันเอื้อต่อการลุกขึ้น ให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ก็มองว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ถ้าไม่หมดกำลังใจก่อน ทุกคนฟื้นหมด เพียงแต่ว่าแบงก์เองก็ต้องช่วยลูกค้าด้วย”

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ถ้าลูกค้าได้รับความลำบากจริงๆ ธนาคารยินดีช่วยพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี แต่ถ้าเป็นลูกค้ากลุ่มที่ปลอดภัยอาจจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมธนาคารจึงมีมาตรการออกมาดูแลลูกค้าถึง 10 มาตรการ โดยหากเปรียบเทียบ เหมือนกับธนาคารมีตู้เย็น 10 ตู้ ตู้เย็นแต่ละตู้ถอดปลั๊กไม่หมด ฉะนั้น ผลกระทบที่จะกระทบงบดุลของธนาคารยังรับได้ ขณะเดียวกันหากมาตรการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดลง เหมือนกับไฟกำลังจะดับทั้งบ้าน ซึ่งของที่อยู่ในตู้เย็นก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้น ภายใต้ตู้เย็น 10 ตู้จะต้องทยอยเปิดบางส่วน คนที่ยังแข็งแรงและพอไปไหวก็ให้เดินออกมา ส่วนคนที่ยังไม่แข็งแรง ก็จะปรับจากตู้ที่ 1 มาใส่ในตู้ที่ 2 ซึ่งทุกอย่างบริหารจัดการได้

“ผมมองว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ หากถามว่าการขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ไหวหรือไม่ ก็เท่ากับยืดหน้าผาไปอีก 4 เดือน ผมมองว่าไม่ควรเกิดความคิดแบบนั้น ลูกหนี้และแบงก์เองต้องมองว่า อยากกลับมาวิ่งได้เหมือนเดิม เช่นเดียวกับตอนที่ผมขาหัก อาจจะวิ่งไม่ได้เหมือนเดิมตอนที่ขาถอดออกจากเผือก แต่สุดท้ายก็กลับมาเดินเหมือนเดิมได้ ดังนั้น ถ้าลูกหนี้อยากให้หนี้กลับไปเหมือนเดิมแบงก์ก็เข้าไปช่วยแล้ว และที่บอกว่าความแข็งแรงของแบงก์จะมีแพ็คเกจออกมาเพื่อขยายเวลาพักชำระหนี้ คือเลื่อนหน้าผาออกไปอีก 4 เดือน ผมว่ามันไม่น่าจะใช่สถานการณ์นั้น แต่ถามว่าแบงก์แข็งแรงพอที่จะช่วยได้ไหม แบงก์ก็ช่วย และจะช่วยได้นานที่สุด”

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมามีตัวเลขจากเครดิตบูโร ว่าหนี้เสียของบ้านเริ่มเร่งตัวขึ้น ทั้งที่หนี้ของบ้านควรจะเป็นหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยอมเสียมันไป และลามไปเกี่ยวกับคนไม่มีตังค์จะใช้หนี้บ้าน เมื่อสุดท้ายเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ จะลามไปถึงราคาอสังหาริมทรัยพ์ เป็นความเข้าใจคาดเคลื่อนหรือไม่ นายฉัตรชัย กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ธปท. ออกเกณฑ์มาตรการดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ตลาดได้มีการปรับตัวแล้ว เรื่องที่บอกว่าจะมีหนี้เสียของบ้านเพิ่มขึ้นกว่าปกติ เป็นหนี้พิงหน้าผาแล้ว มองว่าไม่ใช่ความจริง เพราะธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อล่าสุดได้กว่า 1.49 แสนล้านบาท อัตราการเกิด NPL ก็ไม่ได้ผิดปกติ แม้จะมีมาตรการดูแล 10 มาตรการ

“การเกิดขึ้นของ NPL ไม่ได้เกิดขึ้นจากลูกค้าไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ แต่มาจากผลกระทบของโควิด และสิ่งที่ธปท. ออกมาเมื่อ 18 เดือนก่อน ได้ปรับแนวคิดการซื้อบ้านเกินตัวแล้ว ขณะที่ปัญหาการกู้บ้านไม่ผ่าน เป็นเพราะนกน้อยทำรังแต่พอตัวหรือไม่ มีการขอสินเชื่อเกินไปจากความสามารถหรือไม่ แบงก์ก็อยากปล่อยสินเชื่อตามที่ขอ แต่ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมด้วย”