CIMBT เจาะกลุ่มลูกค้าล่ำซำ ชู “เงินฝาก-หลักทรัพย์” ตปท.

แบงก์ซีไอเอ็มบีไทย เปิดเกมรุกปี’61 เร่งบริการฝากเงินสกุล ตปท.-ลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ปูทางขยายลูกค้ารายย่อย เกาะกระแส ธปท. ก.ล.ต.ดันคนไทยลงทุนนอก ลั่นชิงเค้กเทรดตราสารหนี้ในตลาดรองสูง 30%

นายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) กล่าวว่า ปี 2561 นี้ ทางธนาคารจะเพิ่มบริการด้านการลงทุนให้แก่ลูกค้ารายย่อย โดยเจาะกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้สูง ซึ่งประกอบด้วย การฝากเงินสกุลต่างประเทศ การลงทุนผ่านหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนนักลงทุนไทยขยายการลงทุนออกไปในต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

“ที่ผ่านมา คนไทยนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะฝากเงินตราต่างประเทศเป็นระยะสั้น ๆ เพื่อทำธุรกิจ ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ในการหาผลตอบแทนได้เช่นกัน ซึ่งก็จะต้องระวังเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะค่าเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงจากหลาย ๆ ปัจจัย

ส่วนการออกไปลงทุนหลักทรัพย์อย่างเช่นตราสารหนี้ต่างประเทศ ก็ยังน้อยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องความรู้ด้านการลงทุนในต่างประเทศที่มีน้อย ทั้งตัวบุคลากรที่ให้บริการ และตัวลูกค้าเอง ซึ่งเราก็ต้องพัฒนาและให้ความรู้เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งมิติความเสี่ยงและผลตอบแทน ซึ่งถ้าลูกค้าเริ่มเข้าใจเรื่องค่าเงิน ก็จะขยายไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น” นายภูดินันท์กล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการเพิ่มวงเงินสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถมีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมกำหนดไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2560 ธปท.ยังได้ขยายวงเงินจัดสรรสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้แก่ผู้ลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลรายย่อยที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตัวแทนการลงทุนในไทย เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยขยายวงเงินรวมเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมกำหนดวงเงินรวมจำนวน 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายภูดินันท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ธนาคารยังขยายการลงทุนในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย โดยล่าสุดได้เปิดบริการซื้อขายหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อขายตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลได้ทุกวัน เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าสามารถนำมาซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการลงทุน

สำหรับปี 2560 นี้ ทางธนาคารได้ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มขึ้นเป็น 30% โดยคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ของรายย่อยในตลาดรองอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท จากมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาดอยู่ที่เกือบ 10,000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันมียอดคงค้างรวมอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท

“ตอนนี้เราพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องตลาดรอง จากเดิมที่มีแค่ลูกค้าสถาบัน และกลุ่ม high net worth (ลูกค้าที่ถือสินทรัพย์สูง) โดยเราเข้ามาให้บริการลูกค้ารายย่อยจนปัจจุบันมีธุรกรรมของนักลงทุนรายย่อย การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองที่ 100,000 บาท/ครั้งแล้ว” นายภูดินันท์กล่าว