ชี้ช่องลงทุนฝ่าวิกฤต “โควิด” จับเทรนด์ “หุ้น-บอนด์-กองทุน-ทอง”

ตลาดหุ้น-เงินบาท

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่กระทบชิ่งมาถึงภาคเศรษฐกิจ การจะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดในภาวะเช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลรอบด้านที่จะนำมาวิเคราะห์ ซึ่งในงานเสวนา “เจาะกลยุทธ์การลงทุนหุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ กองทุน ในช่วงโควิด-19” ที่ทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ร่วมกันจัดขึ้น

นับว่าเป็นช่วงชี้ช่องทางให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโค้งสุดท้ายปีเช่นนี้

โดย “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นไทยว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเม็ดเงินกลับเข้ามา โดยเงินลงทุนทั่วโลกส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในตลาดเงิน (money market) และแม้ว่าระยะหลังเริ่มไหลออกจากตลาดเงิน แต่ก็พบว่า กระแสเงินกลับไหลเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) มากกว่าจะเป็นหุ้น

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

 

“หากพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (emerging market) จะเห็นว่าผลตอบแทนลดลงมาต่อเนื่อง และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ก็ยังไหลออกต่อเนื่องเช่นกัน โดยหุ้นไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิอยู่ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิแล้วราว 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET index) ให้ผลตอบแทน -20% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 55 ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทน -10%” นายไพบูลย์กล่าว

“ไพบูลย์” บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ตลาดหุ้นไทยถูกเทขายต่อเนื่องนั้น เนื่องจากกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งส่งผลให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ลงไปแล้วประมาณ 30% เป็นระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ โครงสร้างตลาดหุ้นไทยยังเต็มไปด้วยหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาด ทั้งกลุ่มพลังงาน, ค้าปลีก, ขนส่ง และธนาคาร อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่อยู่ในเศรษฐกิจแบบเดิม (old economy) ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งมีโอกาสเติบโตในอนาคต

“หุ้นไทยมีเพียงหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเกษตรเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกสวนทางกับกลุ่มอื่น ๆ”

ลงทุนหุ้นยังดีกว่าฝากแบงก์

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย บอกว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ โดยปัจจุบันดอกเบี้ยจากการฝากเงินกับธนาคารอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งหากพิจารณาส่วนต่างผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ พบว่า ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่มีส่วนต่างประมาณ 2.8-2.9%

“อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ จากสถิติดัชนีตลาดหุ้น จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกำไรสุทธิ ซึ่งประเมินว่ากำไรสุทธิของ บจ.จะพลิกกลับเป็นบวกในช่วงต้นปีหน้า ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ดัชนีจะกลับมาฟื้นตัวเช่นกัน โดยคาดว่าSET index อาจฟื้นตัวแบบดับเบิลยู (W shape) หรืออาจปรับลงทำจุดต่ำสุดอีกครั้ง แต่เชื่อว่าจะไม่ลงไปลึกแบบช่วงเดือน มี.ค.ที่ลงไปที่ 900 จุด” นายไพบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองปัจจัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่า อาจจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่เงินจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนเน้นกลุ่มที่กำไรปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มหุ้นขนาดกลางเล็ก (sSET) กลุ่มอาหาร, การแพทย์ และค้าปลีก

แนะซื้อบอนด์ออมทรัพย์

ขณะที่ “ธาดา พฤฒิธาดา” กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2563 ตลาดตราสารหนี้ไทยเผชิญความผันผวนจากการที่นักลงทุนแห่ขายตราสารหนี้ผ่านกองทุนตราสารหนี้ (fund run) ส่งผลให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น สวนทางกับราคาตราสารที่ปรับลดลงรุนแรง

ธาดา พฤฒิธาดา

“ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุด ณ 22 ก.ย. 63 อัตราดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนตราสารหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.86%” นายธาดากล่าว

โดยพันธบัตรรัฐบาลถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ จากข้อมูลของสํานักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้ว่างบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ตั้งเอาไว้ประมาณ 1.1-1.2 ล้านล้านบาท ถึงสิ้นปีงบประมาณปี 2564 จะกระจายการระดมทุนผ่านหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นคือการออกพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรออมทรัพย์

“ปกติหุ้นกู้หรือตราสารหนี้เอกชน จะต้องบวกผลตอบแทนเข้าไปอีกตามเรตติ้งที่ได้รับ ส่วนดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะต่ำ แต่หากนักลงทุนไม่ต้องการรับความเสี่ยง เช่น การผิดนัดชำระหนี้ การซื้อพันธบัตรรัฐบาล ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ” นายธาดากล่าว

อย่างไรก็ดี ทั้งการลงทุนในหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลสำหรับรายย่อย ยังเข้าถึงได้ค่อนข้างลำบาก จากข้อมูลพบว่าในปี 2562 เป็นปีที่นักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนการถือหุ้นกู้มากที่สุด แต่ก็อยู่ในระดับ 17% จากมูลค่าหุ้นกู้ทั้งตลาดที่ 1.1 ล้านล้านบาท

“ธาดา” บอกอีกว่า การซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ปัจจุบันสามารถซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นที่รัฐบาลพัฒนาได้แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ดังนั้น อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจก็คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีผู้เชี่ยวชาญช่วยบริหาร

กองรีทแจ่ม-ทยอยเก็บหุ้นนอก

ด้าน “วิน พรหมแพทย์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล กล่าวถึงการจัดพอร์ตการลงทุนช่วงนี้ว่า การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย เป็นการกระจายความเสี่ยงได้ดีที่สุด ทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และสินทรัพย์ทางเลือก

วิน พรหมแพทย์
วิน พรหมแพทย์

โดยแนะนำให้ “คงน้ำหนัก” (neutral) ในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับหุ้นไทยที่ยังมีความเสี่ยงขาลง ขณะที่หุ้นต่างประเทศ แนะนำ “ทยอยสะสม” เมื่อราคาปรับลดลงมา

ทั้งนี้ “วิน” บอกอีกว่า ให้น้ำหนักการลงทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) มากที่สุด แต่ต้องเน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีอนาคต ได้แก่ คลังสินค้า โลจิสติกส์ และศูนย์ข้อมูล (data center) ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนในรีทกลุ่มที่ยังมีโอกาสเติบโตให้ผลตอบแทนประมาณ 4-6%

ทองคำปรับฐาน-ลุ้นปลายปีพุ่งต่อ

นอกจากนี้ “วิน” ยังกล่าวถึงการลงทุนทองคำ โดยแนะนำ “ลดน้ำหนัก” (underweight) และรอเข้าซื้อเมื่อราคาปรับฐานทดสอบ 1,750 ดอลลาร์/ออนซ์

ขณะที่ “พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน จำกัด ชี้ว่า แม้ภาพใหญ่ของราคาทองคำจะยังเป็นขาขึ้น แต่ล่าสุดราคาทองเริ่มปรับฐาน โดยปรับลงต่ำกว่า 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ และมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในระยะสั้น

“เรายังให้แนวรับสำคัญของราคาทองคำที่ 1,850 ดอลลาร์/ออนซ์ นักลงทุนสามารถทยอยซื้อครั้งหนึ่ง และแนวรับถัดไปที่ 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ สามารถเข้าซื้อได้อีกครั้งหนึ่ง และอีกครั้งที่ 1,750 ดอลลาร์/ออนซ์ แล้วจึงค่อยขายทำกำไรช่วงที่ราคาทองคำปรับขึ้นอีกครั้งใกล้ ๆ 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์” นางพวรรณ์กล่าว

ทั้งนี้ “พวรรณ์” บอกว่า นักวิเคราะห์ทั่วโลกยังเชื่อว่าในช่วงปลายปีราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบบริเวณ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ จากปัจจัยเชิงลบเรื่องของการเลือกตั้งสหรัฐที่รออยู่ แต่ความเสี่ยงในระยะสั้น หากราคาทองคำปรับลดลงหลุด 1,750 ดอลลาร์/ออนซ์ จะไม่สามารถประเมินแนวรับถัดไปได้

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจจากกูรูผู้ที่เกี่ยวข้องคร่ำหวอดอยู่กับสินทรัพย์แต่ละประเภทเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี การลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง ซึ่งนักลงทุนต้องคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ก่อนตัดสินใจลงทุน