ธปท. แก้ปัญหาสภาพคล่อง SMEs ช่วยประคองฝ่าวิกฤต

ธุรกิจ SMEs

อุปสรรคของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ผ่านมา ก็คือ การเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับ “ไมโครเอสเอ็มอี” ทำให้ขาดโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ เนื่องจากขาดสภาพคล่อง

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2562 พบว่า กว่า 99% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนทั้งสิ้นราว 3.1 ล้านราย เป็น “ไมโครเอสเอ็มอี” โดยในจำนวนดังกล่าว มีการจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดาอยู่ถึง 2.2 ล้านราย และเป็นนิติบุคคลอีกราว 7.3 แสนราย

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นแนวทางที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีรายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและสภาพคล่องในวงกว้างได้ดีขึ้น ผ่าน “โครงการพัฒนาระบบนิเวศ Digital Factoring ช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน” ที่เป็นการให้สินเชื่อที่ใช้ใบแจ้งหนี้ดิจิทัลและรายรับที่เกิดจากใบแจ้งหนี้เป็นหลักประกัน (digital factoring)

โดย “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ผ่านมา ก็มีการพูดถึงเรื่องการปรับ “เครดิตเทอม” เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเออร์กว่าจะได้เงินจากธุรกิจรายใหญ่ ต้องใช้เวลามากกว่า 3 เดือน ดังนั้น การช่วยสภาพคล่องให้กับซัพพลายเออร์ จึงจะต้องทำให้เครดิตเทอมสั้นลง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ กระทรวงพาณิชย์จะต้องออกประกาศ เพื่อจะให้มีผลในทางปฏิบัติ

ขณะเดียวกันก็จะให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อย่าง e-Factoring ที่จะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ช่วยให้สถาบันการเงินเห็นธุรกรรมการซื้อขาย ทำให้เกิดความแน่ใจในการปล่อยสินเชื่อสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีที่เป็น “ซัพพลายเออร์” รวมถึงจะเป็นการช่วยลดต้นทุน และ ยังสามารถตรวจสอบธุรกรรมการเงินผ่านแพลตฟอร์มกลางนี้ได้ดีขึ้น จากเดิมที่เป็นแบบการยื่นเอกสารหลักฐาน เพื่อขออนุมัติเงินทุนหมุนเวียน

“เราจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยซัพพลายเออร์ที่ต้องยื่นใบแจ้งหนี้ให้กับผู้ประกอบการ คือ e-Factoring ที่เป็นแพลตฟอร์มกลาง ทำให้ไม่ต้องยื่นใบแจ้งหนี้ที่เป็นเอกสาร แต่จะจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินเห็นธุรกรรมด้วย ทำให้สถาบันการเงินสามารถพิจารณาปล่อยกู้สภาพคล่องให้กับซัพพลายเออร์ได้เลย” นายรณดลกล่าว

ขณะที่ “พีรจิต ปัทมสูต” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการฟินเทค, สตาร์ตอัพ, สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) รวมกว่า 100 ราย เมื่อช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด ธปท. ได้นำความคิดเห็นมาประกอบการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยพัฒนาระบบนิเวศ Digital Factoring ขึ้นมา

ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การพัฒนาฐานข้อมูลกลาง (CWS) เพื่อตรวจสอบและป้องกันการใช้ใบแจ้งหนี้ซ้ำซ้อน และการกำหนดมาตรฐานใบแจ้งหนี้ดิจิทัล เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล โดยส่วนนี้จะพัฒนาขึ้นภายในเดือน พ.ย.ปีนี้ และ 2.ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ธปท.จะเริ่มนำร่อง โดยจะเปิด CWS ให้ผู้บริการ digital factoring เข้ามาเชื่อมต่อและขยายการให้บริการ โดยเชิญลูกหนี้การค้าภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป

“ธรรมรักษ์ หมื่นจักร์” ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าปัจจุบัน มีผู้ให้บริการสินเชื่อแฟกตอริ่งอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 30 ราย แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 7-8 ราย ส่วนที่เหลือจะเป็นน็อนแบงก์ โดยเป้าหมายของโครงการ “Digital Factoring” นั้นธปท.ต้องการให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กเข้ามาใช้ประโยชน์ เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มที่เข้าถึงเครื่องมือแฟกตอริ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ที่มีรายได้100 ล้านบาทต่อปี ส่วนเอสเอ็มอีรายย่อยยังเข้าไม่ถึง

“โครงการ ‘Digital Factoring’ มุ่งหวังให้เอสเอ็มอีรายเล็กที่จดทะเบียนในนามนิติบุคคลเข้ามาใช้มากขึ้น โดยตั้งเป้าภายใน 1 ปี จะมีเอสเอ็มอีรายย่อยเข้ามาใช้บริการจำนวน 1 หมื่นราย และมียอดสินเชื่อที่ราว 1 แสนล้านบาทจากที่ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีรายย่อยที่ใช้สินเชื่อแฟกตอริ่งอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่นราย วงเงินสินเชื่อราว 2 แสนล้านบาทรวมถึงหวังว่าในระยะข้างหน้า เอสเอ็มอีรายเล็กจะเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 แสนราย” นายธรรมรักษ์กล่าว

“ธรรมรักษ์” บอกด้วยว่า ข้อจำกัดของเอสเอ็มอีรายเล็ก ก็คือ ใบแจ้งหนี้ ยังไม่ได้เป็นดิจิทัล ดังนั้น เมื่อนำไปขึ้นเงิน จะใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลนานถึง 2-3 วัน เนื่องจากผู้ให้บริการกังวลว่าใบแจ้งหนี้จะมีการปลอมแปลง (fraud) รวมถึงอาจมีการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (double financing)

“หากนำเข้าสู่ระบบดิจิทัล การตรวจสอบข้อมูล จะเหลือครึ่งวันหรือ 1 วันเท่านั้น ทำให้เอสเอ็มอีสามารถนำเงินไปใช้เป็นสภาพคล่องได้ทันที เงินไม่จม” นายธรรมรักษ์กล่าว

ทั้งหมดนี้ ธปท.ตั้งเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน digital factoringให้แล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2564 พร้อมขยายผลสู่วงกว้าง เพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถอยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปให้ได้