ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ดีเบตรอบแรก “ทรัมป์-ไบเดน” ดุเดือด

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 30 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/9) ที่ระดับ 31.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (29/9) ที่ระดับ 31.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนและมีทิศทางอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังนักลงทุนจับตาการโต้วาทีครั้งแรก ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งถูกจัดขึ้นในช่วง 8.00 น. ตามเวลาไทยที่ผ่านมา

โดยผู้ท้าชิงตำแหน่งได้มีการแสดงวิสัยทัศน์ใน 6 หัวข้อ ได้แก่ ประวัติของทรัมป์ และไบเดน, ศาลฎีกาสหรัฐ, โควิด-19, เศรษฐกิจ เชื้อชาติและความรุนแรงในเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐ และความยุติธรรมของการเลือกตั้ง โดยการโต้วาทีเป็นไปอย่างดุเดือด หลังจากไบเดนพุ่งประเด็นไปยังการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีของทรัมป์ รวมถึงมาตรการการรับมือกับโควิด-19 ที่ผู้นำสหรัฐเห็นแก่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นมากกว่าชีวิตของประชาชน

ขณะที่ทรัมป์ยืนยันกลับว่ารัฐบาลทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมและเชื่อว่าไบเดนจะไม่มีทางทำดีได้เท่าตน ซึ่งการโต้วาทีนี้จะถูกจัดขึ้นอีก 2 ครั้งก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.

นอกจากนั้นนักลงทุนคาดหวังถึงความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสภาคองเกรสและทำเนียบขาวในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่มีวงเงินสูงถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในคืนที่ผ่านมา (29/9) ได้แก่ การเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 8.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค. โดยมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 3.1% ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 2.8% นอกจากนั้นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 101.8 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 86.3 ในเดือน ส.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

ในส่วนของค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวนและเริ่มกลับมาแข็งค่าภูมิภาค โดยเมื่อวานนี้ (29/9) ธนาคารโลกได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หดตัวถึง -8.3% อัตราเงินเฟ้อ -0.9% หากแย่ที่สุด เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -10.4%

จากนั้นในปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ถึง 4.9% อัตราเงินเฟ้อ 1% หรือหากกรณีแย่สุด เศรษฐกิจไทยก็จะยังคงขยายตัวได้ 3.5%

สำหรับวันนี้ ไทยเปิดเผยเกินดุลการค้าในเดือน ส.ค. โดยตัวเลขการส่งออกและนำเข้ายังคงติดลบ แต่อยู่ในระดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ก.ค.) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.60-31.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/9) ที่ระดับ 1.1696/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/9) ที่ระดับ 1.1665/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังเปิดเผยอัตราการว่างงานในเยอรมนี เดือนกันยายน ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับความคาดหวังว่าอังกฤษและสหภาพยุโรปจะสามารถหาข้อตกลงเรื่อง Brexit กันได้ในที่สุด

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1693-1.1755 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และเปิดตลาดที่ระดับ 1.1700/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/9) ที่ระดับ 105.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/9) ที่ระดับ 105.36/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดมีความหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ และความคาดหวังกับการเจรจาข้อตกลง Brexit

อย่างไรก็ดี ตลาดก็ยังคงมีความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 อยู่ ทำให้ค่าเงนเยนยังไม่อ่อนค่าลงไปมากนัก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.44-105.80 เยน/ดอลล่าร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกันยายน (1/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนี เดือนกันยายน (1/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐจากสถาบัน ISM เดือนกันยายน (1/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือนกันยายน (2/10), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐเดือนกันยายน (2/10), อัตราการว่างงานของสหรัฐเดือนกันยายน (2/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.10/+0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.90/+5.10 สตางค์/ดอลลาค์สหรัฐ