ดอลลาร์ดีดกลับ รับข่าว “ทรัมป์” ติดโควิด

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 28 กันยายน-2 ตุลาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (28/9) ที่ระดับ 31.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (25/9) ที่ระดับ 31.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แม้ว่าเมื่อคืนวันศุกร์ (25/9) มีการประกาศตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือนสิงหาคมออกมาที่ 0.4% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 1.2% แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากความกังวลต่อความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบที่ 2 ในประเทศแถบยุโรป ทำให้ตลาดกังวลถึงโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากมีการแพร่ระบาดและต้องปิดเมืองเป็นรอบที่สอง

อย่างไรก็ดี ในวันอังคาร (29/9) ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ นางแนนซี เพโลซี เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า ตนเชื่อว่านายมนูชิน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ) จะมีข้อเสนอที่ดี ซึ่งจะทำให้สภาคองเกรสและทำเนียบขาวสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในท้ายที่สุด

โดยหนึ่งในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายกำลังผลักดันคือวงเงินในโครงการ Paycheck Protection Programme (PPP) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่การโต้วาทีครั้งแรก ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตในวันพุธ (30/9 ตามเวลาในประเทศไทย) เป็นไปอย่างดุเดือด หลังจากนายไบเดนพุ่งประเด็นไปยังการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงมาตรการการรับมือกับ โควิด-19 ที่ผู้นำสหรัฐเห็นแก่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นมากกว่าชีวิตของประชาชน

ขณะที่ทรัมป์ยืนยันกลับว่า รัฐบาลทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม และเชื่อว่าไบเดนจะไม่มีทางทำดีได้เท่าตน

จากผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่าประชาชนชื่นชอบลีลาและวาทะของนายไบเดนในการโต้วาทีครั้งนี้มากกว่าประธานาธิบดีทรัมป์เล็กน้อย และการโต้วาทีจะถูกจัดขึ้นอีก 2 ครั้งก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐ เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันศุกร์ (2/10) ว่า เขาและภรรยาติดเชื้อไวรัส COVID-19 หลังจากมีรายงานว่า โฮป ฮิกส์ หนึ่งในผู้ช่วยคนสนิทซึ่งได้ร่วมเดินทางไปกับประธานาธิบดีทรัมป์ในการโต้วาทีรอบแรกที่เมืองคลีฟแลนด์มีผลตรวจเชื้อ COVID-19 เป็นบวก

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ตลาดจับตามองในวันศุกร์ (2/10) ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตราการว่างงานและอัตราค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลภาคแรงงานที่สำคัญของสหรัฐ ที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนในวันพุธ (30/9) เพิ่มขึ้น 749,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน จากระดับ 481,000 ตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 650,000 ตำแหน่ง

เช่นเดียวกับตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 837,000 ตำแหน่ง ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่ 873,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 850,000 ตำแหน่ง

ขณะที่ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีมติด้วยคะแนนเสียง 214 ต่อ 207 ผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 วงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นข้อเสนอของพรรคเดโมแครตในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (1/10)

แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ร่างมาตรการดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก โดยนายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ ได้คัดค้านร่างมาตรการฉบับนี้ เนื่องจากเขาเล็งเห็นความจำเป็นในการเพิ่มเงินให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ในส่วนของค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินในภูมิภาค โดยค่าเงินบาทได้แตะที่ระดับ 31.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกสุดในรอบ 2 เดือน ก่อนที่จะเริ่มแข็งค่ากลับในช่วงกลางสัปดาห์ โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หดตัวถึง -8.3% อัตราเงินเฟ้อ -0.9%

หากแย่ที่สุด เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -10.4% จากนั้นในปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ถึง 4.9% อัตราเงินเฟ้อ 1% หรือหากกรณีแย่สุด เศรษฐกิจไทยก็จะยังคงขยายตัวได้ 3.5%

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.53-31.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/10) ที่ระดับ 31.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (28/9) ที่ระดับ 1.1635/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/9) ที่ระดับ 1.1648/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศแถบยุโรป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปในระยะยาว

นอกจากนี้ตลาดยังรอความชัดเจนของการเจรจาเรื่อง Brexit ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศอังกฤษอีกด้วย โดยนายมารอส เซฟโควิช รองประธานาคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป กล่าวว่าอียูจะไม่เป็นฝ่ายที่ยกเลิกการเจรจาการค้ากับอังกฤษ แม้ว่าอังกฤษกำลังผลักดันให้ร่างกฎหมาย Internal Market Bill ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวนก่อนที่จะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่การเจรจาครั้งล่าสุดไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะในประเด็นน่านน้ำและการทำการประมง ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1613-1.1769 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/10) ที่ระดับ 1.1721/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (28/9) ที่ระดับ 105.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/9) ที่ระดับ 104.44/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดมีความหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ และความคาดหวังกับการเจรจาข้อตกลง Brexit

อย่างไรก็ดี ตลาดก็ยังคงมีความกัวลต่อการระบาดของ COVID-19 อยู่ ทำให้ค่าเงินเยนยังไม่อ่อนค่าลงไปมากนัก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.92-105.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/10) ที่ระดับ 105.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ