ต้นทุนก่อสร้างทั้งระบบส่อพุ่ง 0.8% หลังรัฐดันเพิ่มสัดส่วนจัดซื้อจัดจ้าง “เหล็ก” ผลิตในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงประเด็นเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นการใช้เหล็กภายในประเทศ โดยระบุถึงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโดยหลักการให้มีร่างกฏกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะเหล็กที่จะให้ใช้เป็นสัดส่วน 90% ของมูลค่าหรือปริมาณทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้าง น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้เหล็กที่ผลิตภายในประเทศได้ระดับหนึ่ง เพราะเหล็กที่ผลิตภายในประเทศสามารถทดแทนเหล็กก่อสร้างชนิดทั่วไป ในกลุ่มที่ไทยสามารถผลิตได้ แต่ยังมีการนำเข้าอยู่

ซึ่งที่มาของนโยบายเกิดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำประมาณ 55% เนื่องจากเหล็กไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาต่อเหล็กนำเข้าจากจีน ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยยื่นหนังสือถึงหน่วยงานรัฐ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นโยบายนี้น่าจะช่วยเพิ่มการผลิตเหล็กในประเทศอีกปีละประมาณ 3.6 แสนตันต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต เพิ่มเป็น 58.6% ในขณะเดียวกันอาจมีผลให้ต้นทุนก่อสร้างในโครงการภาครัฐเพิ่มขึ้นประมาน 0.5-0.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเผชิญความท้าทายจากประเด็นความสามารถในการแข่งขันด้านราคาจากเหล็กนำเข้าจากจีนมาโดยตลอด สาเหตุหลักมาจากปัญหาเหล็กล้นตลาด ที่เริ่มเมื่อปี 2557 ผู้ผลิตเหล็กจีนจึงเร่งระบายสินค้า ผ่านการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงไทย ที่เป็นประเทศนำเข้าเหล็กอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งนี้ราคาเหล็กเส้นที่ใช้ในงานก่อสร้างที่ไทยนำเข้าจากจีน อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาเหล็กเส้นของไทย เฉลี่ยประมาณ 20% ในช่วงปี 2557-2562 โดย ส่งผลให้ สัดส่วนการนำเข้าต่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญโดยเพิ่มจาก 8% ในปี 2559 เป็น 40% ในช่วงปี 2560-2562

ทั้งนี้ แม้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย มีวิธีการรับมือปริมาณเหล็กจากจีนจำนวนมากที่เข้ามายังตลาดในประเทศตน ผ่านการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) มาตรการปกป้องการนำเข้า (Safeguard) แต่ก็ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในทางปฏิบัติ มาตรการเหล่านี้ สามารถหลบเลี่ยงได้โดยอาศัยการดัดแปลงเพียงเล็กน้อย การส่งสินค้าผ่านประเทศตัวกลางหรือประเทศอื่น รวมทั้งการนำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป จึงเป็นที่มาของการที่ผู้ประกอบการผลิตเหล็กในไทยพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) เพิ่มหมวด 9 พัสดุ ส่งเสริมพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะในงานก่อสร้างที่ระบุให้ในงานก่อสร้างของรัฐต้องใช้เหล็กที่ผลิตภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าหรือปริมาณการใช้เหล็กทั้งหมดในโครงการก่อสร้างนั้น และเมื่อรวมกับพัสดุอื่นๆแล้วจะต้องมีสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพัสดุที่จะใช้ โดยความหมายของพัสดุที่ผลิตในประเทศคือพัสดุที่ได้รับการรับรองว่าเป็น “Made in Thailand” หรือเป็นการผลิตหรือใช้วัสดุในไทย

นอกจากนี้ หากเกิดการประมูลแข่งขันการจัดซื้อพัสดุระหว่างบริษัทสัญชาติไทยที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ บริษัทที่มิได้ถือสัญชาติไทยในงานของภาครัฐ บริษัทสัญชาติไทยจะชนะการประมูลหากเสนอราคาประมูลสูงกว่าผู้ประเมินต่ำสุดไม่เกิน 3% และพัสดุต้องได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมว่าเป็นพัสดุที่ผลิตในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าหลักการของร่างกฏกระทรวงดังกล่าว น่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการภาครัฐ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากในการก่อสร้างอาคารส่วนใหญ่ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศอยู่แล้ว สาเหตุมาจากเหล็กเส้นก่อสร้างจากจีนที่ผลิตด้วยวิธี Induction furnace พึ่งได้รับการบรรจุเข้าไปในเกณฑ์ของ มอก. ปี 2559 ทำให้ถึงแม้เหล็กจีนราคาจะถูก แต่ในทางปฏิบัติ อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ที่ผ่านมาการใช้เหล็กก่อสร้าง ในงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในช่วงปี 2562-2563 มีมูลค่าการก่อสร้างเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาทต่อปีและมีการใช้เหล็กเฉลี่ยปีละประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี เหล็กกลุ่มที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจะสามารถเปลี่ยนมาเป็นการผลิตในประเทศได้คือเหล็กก่อสร้างกลุ่มที่ไทยสามารถผลิตได้เองแต่ยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศ (Imported non-special grade steel) คิดเป็น 25% ของการใช้เหล็กก่อสร้างในงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ หรือประมาณ 4 แสนตันต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่าร่างกฎกระทรวงฯ นี้ น่าจะสามารถบังคับใช้ได้จริงแต่จะมีผลในวงจำกัดโดยอาจจะมีการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.6 แสนตันต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 7% ของความการบริโภคเหล็กก่อสร้างในปัจจุบันเฉลี่ยที่ 5.2 ล้านตัน และจะทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 58.6%

ถึงแม้นโยบายนี้จะทำให้ปริมาณการผลิตเหล็กในประเทศสูงขึ้นซึ่งน่าจะเกิดผลเชิงบวกต่อผู้ผลิต แต่ในขณะเดียวกัน อาจจะทำให้ต้นทุนก่อสร้างของโครงการภาครัฐสูงขึ้นประมาน 0.5-0.8 % ของมูลค่างานก่อสร้าง เนื่องจากหลักเกณฑ์นี้ทำให้งานก่อสร้างภาครัฐต้องใช้เหล็กก่อสร้างที่ผลิตภายในประเทศ และบริษัทสัญชาติไทยจะชนะการประมูลทันทีหากราคาสูงกว่าไม่เกินร้อยละ 3 ในขณะที่งานที่ต้องใช้เหล็กพิเศษ ที่ไทยผลิตเหล็กประเภทนี้เองไม่ได้และต้องอาศัยการนำเข้า เช่น งานรถไฟ อาจจะไม่ได้มีต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากเกณฑ์นี้สามารถครอบคลุมไปถึงโครงการก่อสร้างที่ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP จะทำให้ตัวเลขการใช้เหล็กที่ผลิตเหล็กในประเทศสูงขึ้น เนื่องจากแผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในระยะหลังมักเป็นโครงการรูปแบบ PPP อย่างไรก็ดีโครงการประเภทนี้เป็นงานที่ต้องใช้เหล็กชนิดพิเศษเป็นจำนวนมาก ทำให้การใช้เหล็กต้องขึ้นอยู่กับสัญญาของโครงการและสเป็คที่ผู้ออกแบบกำหนด

แม้ว่าการใช้นโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กโดยเฉพาะเจาะจง อาจจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ขณะที่มีแนวโน้มที่จะทำให้ ต้นทุนการก่อสร้างทั้งระบบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น นอกจากการบรรเทาผลกระทบจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของเหล็กไทยผ่านมาตรการและนโยบายต่างๆ แล้ว

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศให้ได้อย่างยั่งยืน อาจจะต้องกลับมาทบทวนห่วงโซ่อุปทานเหล็ก ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เหล็กหลากหลายประเภทที่แตกต่างตามรูปแบบการใช้งานว่า ไทยมีจุดแข็งทางด้านคุณภาพและต้นทุนที่สอดรับกับการใช้งานในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศในผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทใด เพื่อที่จะสามารถกำหนดแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะนำไปสู่การลดการนำเข้าเหล็กประเภทนั้นๆ ลง