ดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

เงินดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลดเช้าวันนี้ (6/10) ที่ระดับ 31.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (5/10) ที่ระดับ 31.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักหลังตลาดได้คลายความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยนายทรัมป์ได้ออกจากศูนย์การแพทย์ทหารแห่งชาติแล้วในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย หลังได้เข้ารับการรักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 4 วัน

โดยนายทรัมป์ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะกลับไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซึ่งขณะนี้มีเวลาไม่ถึง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ หลังจากนายมาร์ก มีโดวส์ หัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาวได้ออกมากล่าวว่าทำเนียบขาวมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสได้ และนายทรัมป์เองก็มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้มีข้อตกลงดังกล่าว

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้มีการเปิดเผยคืนที่ผ่านมา (5/10) ได้แก่ ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่าดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.8 ในเดือนกันยายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56.0 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.9 ในเดือนสิงหาคม โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และการจ้างงาน

ทั้งนี้ตลาดยังจับตาการโต้วาทีของคู่ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน และนางคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ตลาดรอติดตามการเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบค.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่าน 2 โครงการคือ ชิมช็อปใช้ และช้อปช่วยชาติ

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.17-31.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/10) ที่ระดับ 1.1787/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/10) ที่ระดับ 1.1755/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้ปัจจัยจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซนที่ได้มีการเปิดเผยวันนี้ (6/10) ได้แก่ คำสั่งซื้อภาคโรงงานของเยอรมนีประจำเดือนสิงหาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.5% สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 3%

อย่างไรก็ตาม บริษัท เบเกอร์ แอนด์ แมคเคนซี (Baker & McKenzie) ที่ปรึกษาด้านกฎหมายได้เปิดเผยรายงาน “The Future of UK Trade : Merged Realities of Brexit and COVID-19” ระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่สหราชอาณาจักรประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลงการค้าหลังการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อาจทำให้สหราชอาณาจักรสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงินสูงถึงปีละ 1.34 แสนล้านปอนด์ (ประมาณ 1.74 แสนล้านดอลลาร์) เป็นเวลา 10 ปี

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1763-1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1780/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/10) ที่ระดับ 105.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/10) ที่ระดับ 105.59/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังนักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดมีความหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ

อย่างไรก็ดีตลาดก็ยังคงมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงในกรอบจำกัด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.50-105.78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.55/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าสหรัฐเดือนสิงหาคม (6/10), รายงานผลผลิตภาคอุตสาหรรมเยอรมนีเดือนสิงหาคม (7/10), รายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 15-16 กันยายน ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (8/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยเดือนกันยายน (8/10), ดัชนีภาคการบริการจีนเดือนกันยายนจากสถาบัน Caixin (8/10), รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหราชอาณาจักรเดือนสิงหาคม (9/10), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร (9/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.20/+0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.50/+4.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ