กนง.จี้รัฐออกแบบนโยบายการคลัง “ต่อเนื่อง-ตรงจุด-ทันการณ์” แก้ปมเศรษฐกิจ

Photo by Nhac NGUYEN / AFP

กนง.จี้รัฐออกแบบนโยบายการคลัง “ต่อเนื่อง-ตรงจุด-ทันการณ์” แก้ปมเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-แต่ละเซ็กเตอร์ไม่พร้อมกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 6/2563 ที่ประชุม เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุมครบทั้ง 7 ราย ประกอบด้วย นายวิรไท สันติประภพ, นายเมธี สุภาพงษ์, นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน, นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, นายคณิศ แสงสุพรรณ, นายสุภัค ศิวะรักษ์ และ นายสมชัย จิตสุชน

โดยคณะกรรมการ กนง. ได้พิจารณาถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการรอบก่อน โดยคาดว่าจะหดตัวที่ -7.8% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิม โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.6% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม หากภาครัฐไม่สามารถดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

ซึ่งคณะกรรมการ กนง. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการฟื้นตัวที่มีแนวโน้มแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ ภูมิภาค และผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม และเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในหลายมิติจะมีนัยต่อมาตรการภาครัฐที่จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น

อาทิ การเร่งสนับสนุนการจ้างงานและการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับแรงงาน ที่อาจถูกกระทบจากอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง การสร้างงานในต่างจังหวัดเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น รวมถึงนโยบายด้านอุปทานโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วสามารถปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง

นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง. เห็นว่าแต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง

โดยมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับ 1) ดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงินกระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการเร่งรัดสินเชื่อในโครงการต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (credit term) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

2) สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะลูกหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ

และ 3) เตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจ และการสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

ขณะที่นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวจะใช้เวลาและมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภูมิภาค และผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม มาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์

โดยควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลและหารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงาน ที่ยังคงมีความเปราะบางทั้งมิติด้านการจ้างงานและด้านรายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แม้ล่าสุดภาคธุรกิจบางส่วนจะเริ่มกลับมาทำการได้หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 แต่การจ้างงานและรายได้ของแรงงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภาวะปกติมาก ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งได้ย้ายไปประกอบอาชีพในภาคเกษตรและประกอบอาชีพอิสระทำให้มีรายได้ลดลง