ดอลลาร์อ่อนค่า ก่อนหน้าผลรายงานประชุมเฟด

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (10/10) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของค่าเงินสกุลหลัก ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวของดัชนีหุ้น SET ที่ระดับ 1,700 จุด สะท้อนให้เห็นถึงกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดไทย ในส่วนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น ปรับตัวอ่อนค่าลงก่อนหน้าการเปิดเผยรายงานผลการประชุมประจำวันที่ 19-20 กันยายนของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะมีการเผยแพร่ในวันพรุ่งนี้ โดยนักลงทุนต่างพากันจับตาดูสัญญาณจากรายงานว่า คณะกรรมการ FOMC จะหารือกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้หรือไม่ นอกจากนี้นักลงทุนยังเฝ้าจับตาดูผลการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G20 ซึ่งกำลังจะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยตลาดคาดว่าจะมีการหารือกันเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแก่ง และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.185-33.235 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (11/10) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1822/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (10/10) ที่ระดับ 1.1782/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (FSO) เปิดเผย ค่าใช้จ่ายในภาคการก่อสร้างของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนสิงบหาคม ขณะที่รายได้ในภาคดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้ FSO เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 9 ปี FSO ยังได้ระบุอีกว่า รายได้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งบ่งชี้ว่า อังกฤษยังคงมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ และช่วยคลายความกังวลต่อผลกระทบจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความไม่สงบในประเทศฝรั่งเศส หลังจากแรงงานชาวฝรั่งเศสพากันผละงานประท้วงคัดค้านแผนการปฏิรูปกฎหมายแรงงานของนายเอมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังคงสร้างแรงกดดันให้กับเงินยูโร โดยสหภาพไม่เห็นด้วยต่อแผนการคุมเข้มด้านการลาป่วย การไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานและแผนการลดจำนวนพนักงานในภาครัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งการทำให้นายจ้างสามารถปลดแรงงานได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ส่งผลให้สภาวะการทำงานยากลำบากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1803-1.1844 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1817/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (11/10) เปิดตลาดที่ระดับ 112.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (10/10) ที่ระดับ 112.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมรายไตรมาสของผู้จัดการสาขาระดับภูมิภาคของ BOJ ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวในระดับปานกลาง ซึ่งจะช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อให้เคลื่อนตัวสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.20-112.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.26-29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (12/10), รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ (12/10) รายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐ (12/10) และตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงาน (12/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.9/-0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/-1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ