ดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อย ขานรับความหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/10) ที่ระดับ 31.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (7/10) ที่ระดับ  31.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อวานนี้ว่า  เขาจะลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายฉบับ เพื่อเยียวยาประชาชนและบางภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

พร้อมกับเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติมาตรการต่าง ๆ ที่เขาจะลงนาม ซึ่งได้แก่ การแจกเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันคนละ 1,200 ดอลลาร์ รวมทั้งการอัดฉีดวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินและวงเงิน 1.35 แสนล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจรายย่อย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ปธน.ทรัมป์ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลหลังจากที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ปธน.ทรัมป์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระงับการเจรจากับพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 15-16 ก.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะมาตรการให้ความช่วยเหลือคนว่างงานซึ่งได้หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยเฟดย้ำว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว โดยคณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566

นอกจากนี้ที่ประชุมเฟดยังได้ระบุถึงการกำหนด “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของเฟดในการทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ 50.2 จาก 51.0 ในเดือน ส.ค. 63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ได้รับปัจจัยลบมาจากความกังวลสถานการณ์การเมืองจากการชุนุม, การลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลังของนายปรีดี ดาวฉาย กระทบความเชื่อมั่นในสายตาผู้บริโภค, ความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโวิด-19, การส่งออกในเดือน ส.ค.ที่ลดลง -7.9% และเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 63 จะหดตัว -7.8% น้อยลงจาก -8.1% และ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี และราคาน้ำมันในประเทศยังทรงตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.16-31.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/10) ที่ระดับ 1.1764/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/10) ที่ระดับ 1.1759/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานในวันนี้ว่า ยอดส่งออกของเยอรมนีปรับขึ้นในเดือน ส.ค. โดยรายงานตัวเลขนี้ช่วยกระตุ้นความคาดหวังที่ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีอาจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3

ทั้งนี้ยอดส่งออกของเยอรมนีปรับขึ้น 2.4% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน ก.ค. ทางด้านยอดนำเข้าของเยอรมนีปรับขึ้น 5.8% ในเดือน ส.ค. หลังจากปรับขึ้น 1.1% ในเดือน ก.ค. ส่วนยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ 1.57 หมื่นล้านยูโร (1.85 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือน ส.ค.

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1760-1.1781 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1762/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/10) ที่ระดับ 106.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/10) ที่ระดับ  106.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มการประเมินภาวะเศรษฐกิจหลังจากดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในเดือน ส.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งประเมินข้อมูลต่าง ๆ ทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, การจ้างงาน และยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 79.4 ในเดือน ส.ค.

ด้านนักวิเคราะห์คาดว่า อัตราการฟื้นตัวอาจจะไม่แข็งแกร่งพอที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งตอกย้ำถึงความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.95-106.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.98/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหราชอาณาจักรเดือนสิงหาคม (9/10), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร (9/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (9/10) และสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งของสหรัฐเดือน ส.ค. (9/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.7/+3.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ