SME D Bank คาดสิ้นปี’63 หนี้เสียพุ่ง 2 หมื่นล้านบาท

การลงทุน-กองทุน-เงิน

SME D Bank ชี้โควิดทำลูกค้า SM เพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท คาด NPL เพิ่มขึ้น 3 พันล้านบาท ส่งผลให้หนี้เสียแบงก์พุ่ง 2 หมื่นล้านบาท คาดสิ้นปีนี้ปล่อยสินเชื่อรวม 4 หมื่นล้านบาท กำไรดีขึ้นจากปี’62 ที่ขาดทุน 1 พันล้านบาท

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารมีลูกหนี้กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (SM) เฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา คาดว่าปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท จากจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ลูกหนี้ตกชั้น เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยประเมินจากกลุ่มเปลี่ยนธุรกิจ มีการหยุดกิจการ, กลุ่มลูกค้าไม่ประสงค์ชำระหนี้ เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้กับตัวก่อน, และกลุ่มติดต่อไม่ได้ ราว 300 ล้านบาท

“ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารมี NPL อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ออกมาตรการพักชำระหนี้ ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด สามารถแก้ไขหนี้เสียได้ 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบัน ธนาคารมี NPL อยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ซึ่งหากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 จะมีลูกหนี้ตกชั้นเป็น NPL ที่อยู่ระดับ 19,000-20,000 ล้านบาท”

ขณะที่ 9 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารปล่อยสินเชื่อลงสู่ระบบแล้ว 30,000 ล้านบาท ช่วยลูกค้ากว่า 15,000 ราย โดยคาดว่าทั้งปี 2563 จะปล่อยสินเชื่อได้ 40,000 ล้านบาท สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 100,900 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิ ในปีนี้ ประเมินว่าผลประกอบการจะดีขึ้นกว่าปี 2562 ที่ขาดทุนราว 1 พันล้านบาท เนื่องจากธนาคารมีการตั้งสำรองมาตรฐานรายงาน IFRS9 และการสำรองหนี้เสียเพิ่ม

“ส่วนใหญ่เราปล่อยสินเชื่อรูปแบบดอกเบี้ยต่ำ ทั้งซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สินเชื่อรายเล็ก Extra cash , และสินเชื่อ LEL เป็นต้น จึงคาดว่ารายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยจะลดลง 700 ล้านบาท เหลือ 4,500 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ผ่าน มีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย 5,200 ล้านบาท”