CHO ควักงบ 350 ล้าน เปิดศูนย์ซ่อมสิบล้อ 24 ชม. 5 แห่งทั่วประเทศ

บริษัท ช ทวี หรือ “CHO” ทุ่ม 350 ล้านบาท เดินหน้าเปิดศูนย์ซ่อม “สิบล้อ 24 ชั่วโมง by CHO” อีก 5 แห่งกระจายทั่วประเทศ-พร้อมรับจดทะเบียน ต่อภาษี-ประกันภัย ระบุร่วมเอกชน 20 ราย ควัก 200 ล้านบาท ตั้ง “KKTT” ลุย “ขอนแก่นโมเดล” ด้าน “ธนาคารกรุงเทพ” ลั่นหนุนธุรกิจ CHO เต็มสูบ

บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) “CHO” นับเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจรถขนส่งในจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งริเริ่มธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุก ก่อนจะขยายมาสู่การผลิตและต่อตัวถังรถบัส รถพ่วง-กึ่งพ่วง และรถขนส่งประเภทต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีรถพ่วง และรถเพื่อการพาณิชย์ จากการมองเห็นแนวโน้มการขยายตัวของความต้องการที่มีในระบบขนถ่ายสินค้าด้วยรถพ่วงขนาดใหญ่ และเห็นความสำคัญของนวัตกรรมด้านการต่อตัวถังรถบรรทุกด้วยเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศ ว่าจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมรถพ่วง-กึ่งพ่วง ในอนาคตเพิ่มมากขึ้น

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้จัดงบประมาณ 350 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนและต่อยอดธุรกิจครอบคลุมภายในปี 2565 โดยขยายศูนย์ซ่อมรถบรรทุกจากเดิมมีอยู่ 3 แห่ง คือ ขอนแก่น วังน้อย และพัทยา โดยจะเพิ่มบริการศูนย์ซ่อม “สิบล้อ 24 ชั่วโมง by CHO” เพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตัวถัง ระบบไฟฟ้า แบบเต็มระบบ โดยเปิดให้บริการแล้วที่ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และสุวรรณภูมิ โดยมีแผนลงทุนเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง กระจายไปทั่วประเทศ

นอกจากนี้บริษัทจะเพิ่มบริการครอบคลุมการจดทะเบียน ต่อภาษี ประกันภัย พร้อมจำหน่ายอะไหล่ อุปกรณ์ตกแต่ง โดยทีมช่างมืออาชีพ และเครื่องมือที่ทันสมัย พร้อมระบบการบันทึกข้อมูล ประวัติการซ่อมแซม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการซ่อมรถแต่ละคันได้จากทุกศูนย์บริการ ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสังคม เช่น การสนับสนุนรถเมล์ NGV (Low Floor) ที่ออกแบบเพื่อให้ผู้โดยสารทุกกลุ่มสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับสายงานผลิตประกอบรถโดยสารไฟฟ้า (EV-BUS) เพื่อรองรับความต้องการทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ภาพรวมรายได้ของบริษัทเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมานั้น มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกแบบพิเศษประมาณ 65% กลุ่มบริหารโครงการและงานบริการ 22% และมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐาน13%

“ในช่วงที่โควิดระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทเช่นกัน โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มสายการบินทั้งในและต่างประเทศต่างได้รับผลกระทบ และชะลอการลงทุน รวมทั้งการเข้าสู่ขั้นตอนฟื้นฟูกิจการของสายการบินรายใหญ่ระดับประเทศ แต่บริษัทยังมีรายได้ประจำจากกลุ่มงานซ่อมบำรุงเข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง”

นายสุรเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ช ทวี เป็นหนึ่งในแกนหลักสำคัญของภาคเอกชนกว่า 20 ราย ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันในเรื่อง “สำนึกรักบ้านเกิด” และร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด “KKTT” ภายใต้ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน “ขอนแก่นโมเดล” อย่างบูรณาการร่วมกัน ทั้งความร่วมมือกับภาครัฐ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนในพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่ม NGO เพื่อออกแบบพัฒนาโครงสร้างของจังหวัดและพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างถูกทิศทาง สู่การเป็นต้นแบบด้าน Smart City เมืองแห่งอนาคต และเมืองศูนย์กลางของอาเซียนเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

สำหรับแผนการลงทุนของกลุ่ม KKTT จะเน้นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ ด้วยการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวนสถานี 21 สถานี และการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมในแนวสายรถไฟฟ้ารางเบา (Transit Oriented Development) รวมทั้งการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ท่าเรือบก หรือ Inland Container Depot เพื่อใช้ขนส่งสินค้าด้วยระบบราง รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ การศึกษา งานวิจัย และอื่นๆ

โดยจะช่วยให้ดัชนีความสุขของผู้คนในจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น สอดรับกับนโยบายจังหวัดที่ต้องการเป็นเมืองศูนย์กลาง 3 ด้าน คือ การเป็นเมืองราง เมืองศูนย์กลางทางการแพทย์ และเมืองศูนย์กลางด้านการประชุมสัมมนา (MICE City) โดยที่องค์ความรู้เหล่านี้ จะเป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและสังคมไทยได้ในอนาคต

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เจตนารมย์สำคัญของธนาคารคือ การเป็น “เพื่อนคู่คิด” พร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าธุรกิจในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะ บริษัท ช ทวี ซึ่งเป็นลูกค้ากับทางธนาคารมาอย่างยาวนาน และมีอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางธนาคารมีความตระหนัก และนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เช่น การพิจารณาสินเชื่ออย่างมีจริยธรรม โดยคำนึงถึงหลักปฏิบัติด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสวัสดิภาพของพนักงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนโดยรอบสำนักงานและสาขาของธนาคาร เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนของสังคมและประเทศชาติเช่นเดียวกัน