BBL ตุน “เงินกองทุน” พุ่ง 18% งัดหุ้นกู้เสริมแกร่ง-รับมือ “โควิด” ลากยาว

รูปประกอบข่าวการลงทุน-หุ้น-หุ้นกู้

แบงก์กรุงเทพเร่งเสริมแกร่งเงินกองทุน ชี้ออกหุ้นกู้ใน “ฮ่องกง” ขายต่างชาติดัน “เทียร์ 1” แตะ 18% ตุนหน้าตักรองรับ “โควิด-19” ลากยาว 2 ปี-หนี้เสียพุ่ง ยันดูแลลูกหนี้ต่อเนื่องหลังจบมาตรการ “พักหนี้” ของ ธปท. พร้อมพิจารณา “พักหนี้ต่อ” 6 เดือนถึง 1 ปีแบบ “เฉพาะราย” ช่วยลูกค้าที่ยังจ่ายไม่ไหว กางแผนขับเคลื่อนแบงก์ 3 ยุทธศาสตร์สู้วิกฤต-รับการเปลี่ยนแปลง

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ภายใต้ global medium term note program วงเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ย 5% ไม่มีกำหนดชำระคืน แต่ธนาคารมีสิทธิไถ่ถอนและปรับอัตราดอกเบี้ยหลังจาก 5 ปี โดยธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง เป็นผู้ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา

ซึ่งหุ้นกู้นี้ออกเพื่อเป็นทุนสำรอง เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเงินกองทุนขั้นที่ 1 เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะลากยาวและใช้เวลาอีกราว 2 ปีครึ่ง และรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่จะเพิ่มขึ้น

เดชา ตุลานันท์
เดชา ตุลานันท์

“ถ้าธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยรองรับความไม่แน่นอน เป็นการป้องกันไว้ก่อน โดยคาดว่าจะทำให้เงินกองทุน ขั้นที่ 1 อยู่ที่ 17-18% ส่วนการเลือกระดมทุนในต่างประเทศแทนในประเทศไทย เพราะมองว่าตลาดในต่างประเทศมีโอกาส และต้นทุนถูก แม้ว่าหากดูตามสถานะทางการเงินแล้ว เรามีเงินกองทุนขั้นที่ 1-2 เหลือเฟือ ไม่มีความจำเป็นต้องออกก็ได้ แต่เรามีโอกาส และไม่ต้องเพิ่มทุน ซึ่งก็ประกาศขายทีเดียว 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

นายเดชากล่าวว่า เนื่องจากธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่มาก ดังนั้น เมื่อจบมาตรการพักหนี้ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จึงไม่ได้มีผลกระทบมาก อย่างไรก็ดี ธนาคารได้เตรียมความช่วยเหลือลูกหนี้ไว้ และพยายามรักษาเงินทุนสำรอง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ซึ่งพิจารณาแล้วลูกค้าส่วนใหญ่ประมาณ 50% ยังไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินการตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งยืดหนี้ และมาตรการอื่น ๆ โดยกลุ่มที่ยังจ่ายไม่ไหว ธนาคารก็พร้อมช่วย

“ต้องรอดูด้วยว่า ธปท.จะมีอะไรออกมาหรือไม่ เพราะถ้าไม่ช่วยเหลือ ลูกค้าเหล่านี้จะกลายเป็นเอ็นพีแอล โดยแม้ว่า ธปท.ไม่ได้ประกาศให้พักหนี้ต่อ แต่ธนาคารก็กำลังพิจารณาช่วยเหลือลูกค้าอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ทำเป็นการทั่วไป โดยจะทำเฉพาะบางรายเท่าที่จำเป็น ส่วนรายที่ยังพอไปได้ หรือจำเป็นน้อย ก็คงไม่ทำ ซึ่งคาดว่าน่าจะพักต่อให้อย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นกับแต่ละรายและความจำเป็น

เพราะจะต้องพิจารณาตามกระแสเงินสด (cash flow) รายได้ และหนี้เสีย ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี สำหรับกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรมที่ยังมีปัญหา แม้ว่าเราจะมีไม่มาก แต่ก็ช่วยเหลือตามโปรแกรมของ ธปท. ทั้งยืดหนี้ หรือให้ซอฟต์โลนไป แต่ที่เห็นว่าซอฟต์โลนวิ่งช้า เพราะส่วนหนึ่งลูกค้าไม่ขอ ซึ่งธนาคารก็คงไม่ได้ไปเสนอให้”

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจของธนาคารกรุงเทพ พยายามเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน โดยพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์แรก คือ digitalization หรือการปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัล

ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์
ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

ซึ่งในระยะข้างหน้าจะเห็นการเติบโตด้านดิจิทัลรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้น โดยธนาคารต้องปรับตัว ซึ่งหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านสาขาที่จะต้องทบทวน เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้มากขึ้น ซึ่งการควบรวมสาขาเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นในอนาคต

“การลดสาขาต้องมองหลายปัจจัย เพราะสาขาต้องรองรับลูกค้าทั้งรายย่อย และธุรกิจ โดยธนาคารใช้วิธีควบรวมแทนการยุบสาขา และพยายามทบทวนเครือข่ายตามปัจจัยการเปลี่ยนแปลง เช่น ลูกค้ารายย่อยใช้โมบายแบงกิ้งได้ แต่พยายามยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและลูกค้าเพื่อเข้าใจลูกค้า และมองให้ออกว่าเสี่ยงหรือไม่ ดังนั้นการมีเครือข่ายเชิงลึก เชิงกว้าง และเข้าใจลูกค้ามากที่สุด เพื่อสร้าง relationship เราต้องปลูกฝังความคิดทำให้คนของเรา เป็นเพื่อนคู่คิด”

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ regionalization หรือการเติบโตจากการรวมกลุ่มในภูมิภาค อย่างการซื้อหุ้น ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) ในประเทศอินโดนีเซีย สะท้อนภาพที่ชัดเจนถึงการมีเครือข่ายที่ลึกของธนาคาร และสะท้อนให้เห็นถึงภาพการเข้าไปรุกในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธนาคารในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการควบรวมสาขาธนาคารกรุงเทพกับสาขาของเพอร์มาตาให้เป็นหนึ่งเดียว


และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ urbanization หรือการขยายตัวเมือง โดยธนาคารตั้งเป้ามีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเมืองมากขึ้น เติบโตไปกับลูกค้าในการขยายธุรกิจ และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาชุมชนเมืองในระยะข้างหน้ามากขึ้น เช่น สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเส้นทางรถไฟในอนาคต เป็นต้น