ตีปี๊บ…ตลาด “สินทรัพย์ดิจิทัล” ตลท. ลงสนาม-ตั้งศูนย์ซื้อขายแข่งเอกชน

ย้อนกลับไปช่วงหลายปีก่อน ต้องบอกว่าสินทรัพย์น้องใหม่อย่าง “คริปโทเคอร์เรนซี” และ “โทเค็นดิจิทัล” เป็นสินทรัพย์นอกกระแสที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ทว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ สถานการณ์ดูเหมือนจะแตกต่างออกไป

โดยจะเห็นได้ว่าภาครัฐ ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สนใจเรื่องดังกล่าวมากขึ้น มีการออกเกณฑ์ต่าง ๆ มากำกับดูแลอย่างชัดเจน

ขณะที่ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯประกาศจับมือกับบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย เพื่อจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์โทเค็นดิจิทัล (Digital Token Exchange) ร่วมกัน โดย KBTG จะทำหน้าที่เป็น ICO portal เปรียบเสมือนที่ปรึกษาการเงิน (FA) ในการหาโปรดักต์มาซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งใหม่นี้

ซึ่งปักธงกันว่า จะเปิดการซื้อขายในตลาดโทเค็นดิจิทัลได้ในปี 2564

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต.ก่อน จึงจะสามารถเปิดการซื้อขายได้ตามแผนที่วางเอาไว้

ขณะที่ฝั่งเอกชน “ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX) บริษัทลูกในเครือบริษัท เอเลเวตเท็ด รีเทิร์นส์ (Elevated Return : ER) ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายโทเค็นดิจิทัลในสหรัฐ เปิดเผยว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังและสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีบริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด (SE Digital) ทำหน้าที่เป็น ICO portal

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 63 ทาง ERX ได้ทดลองให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (focus group) เปิดบัญชีซื้อขายโทเค็นดิจิทัลได้แล้ว คาดว่าในอีก 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะสามารถให้บริการเปิดบัญชีแบบเป็นการทั่วไป และภายในสิ้นปีนี้บริษัทพร้อมที่จะนำโปรดักต์ประมาณ 1-3 ตัวเข้ามาซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วทั้งสิ้น 7 ราย ได้แก่ ERX, BITKUB, Satang Pro, Huobi, Zipmex, Upbit และ Z.comEX อย่างไรก็ตาม “ปิ่นปราชญ์” อธิบายว่า โทเค็นดิจิทัลที่จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯของ ERX จะแตกต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีที่ซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเจ้าอื่น ๆ เนื่องจากโทเค็นดิจิทัลมีสินทรัพย์อ้างอิงที่แน่นอน (asset-backed security) เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือสินค้าและบริการอื่น ๆ เป็นต้น แต่คริปโทเคอร์เรนซีไม่มีสินทรัพย์อ้างอิงที่แน่นอน

“ERX เลือกที่จะยื่นขอใบอนุญาตโทเค็นดิจิทัลเพียงประเภทเดียว เนื่องจากมองว่าโทเค็นดิจิทัลเป็นรูปแบบการลงทุนที่มีการอ้างอิงกับสินทรัพย์การลงทุนปกติ (traditional asset) ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้ลงทุนทั่วไป นอกจากนี้ เรามีจุดแข็งที่ Elevated Return บริษัทแม่ เป็นผู้มีความชำนาญในธุรกิจลงทุนอสังหาริมทรัพย์และด้านสินทรัพย์ดิจิทัล โดยในปี 2561 บริษัทได้ออกโทเค็นดิจิทัล “aspen coin” ที่อ้างอิงทรัพย์สินของโรงแรม The St. Regis Aspen Resort มาแล้ว และสามารถระดมทุนได้ถึง 18 เหรียญสหรัฐ”

ส่วนการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะกระโดดลงมาเล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยตนเองนั้น “ปิ่นปราชญ์” มองว่า น่าจะทำให้สินทรัพย์ประเภทดังกล่าวได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากหน่วยงานของภาครัฐ ลงมาดำเนินการด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาด หลักทรัพย์ฯมีความน่าเชื่อถือสูง และมีบริษัทสมาชิกหลายแห่ง ดังนั้น แม้ว่า ERX จะพร้อมให้บริการก่อน แต่ต้องยอมรับว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นคู่แข่งที่ต้องจับตา

การรุกเข้าไปสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของ ตลท. แม้จะยังต้องใช้เวลา แต่นับว่าเป็นจังหวะก้าวที่น่าสนใจเลยทีเดียว