ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนวิตกวัคซีนโควิด-19 ถูกระงับ

เงินดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/10) ที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (12/10) ที่ระดับ 31.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากมีรายงานข่าวว่าบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ประกาศระงับการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หลังพบผู้เข้าร่วมการทดลองรายหนึ่งล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ

ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวอาจยังไม่ได้สร้างความกังวลให้นักลงทุนมากนัก หลังในวันนี้ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ได้อนุมัติงบประมาณใหม่มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ หลังมีรายงานว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ปฏิเสธข้อเสนอวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ของทำเนียบขาว ด้วยเหตุผลว่าวงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการเยียวยาผลกระทบโควิด-19

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อคืนวันอังคาร (13/10) ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ย. ซึ่งแม้จะไม่ได้สูงไปกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่การปรับขึ้นดังกล่าวเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการเปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.4% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะหดตัว 4.9%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดนจากปัจจัยภายในประเทศในเรื่องของการรวมตัวชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีกำหนดการในวันนี้ (14/10)

อย่างไรก็ตาม ความกังวลในตลาดเพิ่มสูงขึ้นหลังจากการรวมตัวของผู้ชุมนุม เริ่มเกิดปัญหาและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งหากการชุมนุมยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในประเทศได้ ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ได้ออกมากล่าวถึงการชุมนุมที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่า กระทรวงการคลังยังต้องเดินหน้าดูแลเรื่องศักยภาพและความมั่นคงในภาพรวมเศรษฐกิจต่อไปและยืนยันการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้

และหลังจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือน ทุกไตรมาส ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการเปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 7.1% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะหดตัว 7.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.15-31.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/10) ที่ระดับ 1.1746/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/10) ที่ระดับ 1.1804/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อคืนนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงสู่ระดับ 56.1 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 77.4 ในเดือน ก.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 73.0

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังถูกกดดัน ในส่วนของประเด็น Brexit หลังได้มีการชี้แจงมติของผู้นำประเทศกลุ่ม EU ว่า การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับอังกฤษยังมีความคืบหน้าไม่มากพอ และกล่าวถึงการเตรียมหาแผนรับมือกรณีอังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no deal Brexit) หากไม่สามารถเจรจากันได้ก่อนสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1720-1.1754 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1729/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/10) ที่ระดับ 105.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/10) ที่ระดับ 105.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบในกรอบ 105.00-106.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภค ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.525 แสนล้านเยน หรือประมาณ 7.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.31-105.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ย. ของสหรัฐ (14/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (15/10), ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน ก.ย. (15/10), ดัชนีการผลิตเดือน ต.ค. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (15/10), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. ของสหรัฐ (16/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ (16/10), ยอดค้าปลีกสหรัฐ (16/10)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.35/+0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ +2.8/+4.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ