แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงนี้ “ปรับโครงสร้างหนี้-สภาพคล่องธุรกิจ” ก่อน

เอ็นพีแอล-แบงก์ชาติ-หนี้เสีย

แบงก์ชาติชี้ชัดไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงนี้ แจงโฟกัสเรื่อง “ปรับโครงสร้างหนี้-เติมสภาพคล่องธุรกิจ” ก่อน

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ถึงการดำเนินนโยบายการเงิน ว่า ปัจจุบันพื้นที่ (room) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือน้อยลง สำหรับการใช้มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อต้องพยายามรักษาสมดุล (balance) ระหว่าง “เสถียรภาพของเศรษฐกิจ” กับ “เสถียรภาพของระบบการเงิน” หากมาตรการมีผลทำให้สถาบันการเงินรับภาระสูงเกินไป จะทำให้เกิดปัญหากลับมาที่เศรษฐกิจได้

“ในทางกลับกัน หากสถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้น้อยเกินไป เศรษฐกิจจะแย่ลงในที่สุดจะกลับมากระทบสถาบันการเงินได้ จึงต้องสร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพเศรษฐกิจกับเสถียรภาพระบบการเงินให้ได้ ที่ผ่านมา สถาบันการเงินดูแลลูกค้าพอสมควร และมีการปรับโครงสร้างหนี้ไปบ้างแล้ว จากการสอบถามธนาคารพาณิชย์ พบว่า มีลูกหนี้ที่แจ้งกับแบงก์ว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ปกติเป็นจำนวนค่อนข้างมาก หลังจากมาตรการสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ส่วนที่เหลือจะมีการปรับโครงสร้างหนี้และเลื่อนการชำระหนี้ออกไป” นายเมธีกล่าว

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่า กนง. มองแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป ว่ามีความไม่แน่นอนสูงและใช้เวลาฟื้นตัวนาน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ใช่พระเอกในตอนนี้ โดยสิ่งที่ กนง. ให้ความสำคัญในระยะต่อไป มี 2 เรื่อง คือ 1) การปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งที่สถาบันการเงินทำเอง และที่ ธปท. เข้าไปช่วยจัดตั้งเป็นโครงการ เช่น โครงการ DR BIZ ซึ่งช่วยปรับโครงสร้างลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย โครงการ debt consolidation ซึ่งช่วยปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้หลายประเภท

“ในระยะต่อไป เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นสิ่งที่ ธปท. ให้ความสำคัญมาก ควบคู่ไปกับ 2) การทำให้สภาพคล่อง (liquidity) ในระบบที่มีอยู่สูงไปถึงคนที่ต้องการได้ การปล่อย soft loan ของ ธปท. ในปัจจุบันที่ยังไปถึง SMEs ค่อนข้างช้า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการในระยะต่อไปว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง” นายดอนกล่าว