หุ้นไทยทำไมทรุด “หนัก-นาน” กว่าเพื่อน คลายล็อกดาวน์ก็ยังไม่ฟื้น

เศรษฐกิจ กระดานหุ้น ตลาดหุ้น หุ้นไทย กระดานหุ้น
FILE PHOTO :MANAN VATSYAYANA/AFP

ศูนย์วิจัย “กรุงไทย” ชี้หุ้นไทยทรุด “หนัก-นาน” กว่าเพื่อน แม้คลายล็อกดาวน์ประเทศแล้วยัง “ย่ำอยู่กับที่” เหตุ 3 เซ็กเตอร์ที่ไม่สอดรับกระแส “นิวนอร์มอล” หดตัวหนัก ส่วนธุรกิจที่สอดรับกับ “นิวนอร์มอล” ก็ฟื้นตัวไม่แข็งแรง-มีแรงส่งไม่มากพอ

นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ประเทศ ดัชนีตลาดหุ้นไทยติดลบไป -28.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ขณะที่ปัจจุบันดัชนีก็ยังติดลบอยู่ -21.2% โดยตลาดหุ้นไทยยังเหมือนย่ำอยู่กับที่ เพราะขณะเดียวกันหากมองตลาดหุ้นต่างประเทศ อย่างเช่น ตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา ช่วงล็อกดาวน์ก็ติดลบไป -14.2% แต่จุดแตกต่างคือ หลังจากนั้นตลาดหุ้น NASDAQ บวกขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 31.2% และ ปัจจุบันอยู่ที่ 21.6%

“เราพบว่า ตลาดหุ้น NASDAQ ที่บวกขึ้นมาได้ นำโดยหุ้น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) ที่มีหุ้นเทสล่า อีกกลุ่มคือ กลุ่มเทคโนโลยี นำโดย เฟซบุ๊ก, แอปเปิ้ล, อะเมซอน, เน็ทฟลิกซ์ และ กูเกิ้ล สองกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างน้อย และยังสะท้อนว่าเป็นกลุ่มที่มีอนาคตในยุค New Normal (วิถีชีวิตใหม่) ด้วย” นายณัฐพรกล่าว

ส่วนการที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อาจเป็นเพราะไม่มีธุรกิจที่สอดรับกับ New Normal ซึ่งเมื่อเข้าไปดูรายเซ็กเตอร์ พบว่า 3 เซ็กเตอร์ที่หดตัวรุนแรงที่สุดในปัจจุบันและยังฟื้นตัวช้า ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจการเงิน -35% 2.กลุ่มธุรกิจด้านทรัพยากร -26% และ 3.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง -24%

ด้านธุรกิจที่ลบน้อย ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค 2.กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ 3.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี แม้จะสอดรับกับนิวนอมอล แต่ก็ฟื้นตัวไม่แข็งแรงนัก

นอกจากนี้ พบว่า โควิด-19 กระทบรายได้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2563 ลดลงแล้วประมาณ -13.5% เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีที่เป็นบวก 3.5% โดยธุรกิจที่รายได้ติดลบแรง อันดับแรกคือ ธุรกิจด้านทรัพยากร -24.3% 2.ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม -18.1% 3.ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค -11.5% ซึ่งหากเจาะลึกเข้าไประดับกลุ่มธุรกิจย่อย จะพบว่า ธุรกิจเหล็ก และ ธุรกิจยานยนต์ มีรายได้ลดลงรุนแรงที่สุด ตามด้วยธุรกิจพลังงาน และ สินค้าแฟชั่น

“ระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยฯ มองว่า การดำเนินธุรกิจยังมีความท้าทายสูง บนความไม่แน่นอนที่มีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังต้องฝากความหวังไว้กับเรื่องวัคซีน, เศรษฐกิจที่ถดถอยลง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีในการฟื้นตัว รวมถึงกำลังซื้อที่อ่อนแรง และภาวะการว่างงานที่อาจจะสูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจคู่ค้าที่มีปัญหา ก็ทำให้การส่งออกเปราะบางสูงไปด้วย อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้น ประคองเศรษฐกิจให้ยังไปได้” นายณัฐพร กล่าว

ดร. พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการศึกษาว่า เมื่อต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่ได้ยินก็คือ รายได้ของธุรกิจจะลดลงจากภาวะปกติค่อนข้าง ซึ่งศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่า ในปี 2563 นี้รายได้ของธุรกิจ จะลดลงจากปีที่แล้วถึง -9% และ การฟื้นตัวในปี 2564-2565 จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่รายได้จะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด

“การที่รายได้ลดลงค่อนข้างมาก ก็จะมีผลกระทบต่อธุรกิจในหลาย ๆด้าน ด้านหนึ่งก็คือ ความสามารถในการชำระหนี้ เพราะด้วยรายได้ที่ลดลงไปมากขนาดนี้ จะมีธุรกิจบางกลุ่มที่มีความลำบากในการชำระหนี้ในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานลดน้อยลงจากภาวะปกติค่อนข้างมาก” ดร.พชรพจน์กล่าว