รัฐวิสาหกิจสภาพคล่องหด 12 ราย แห่ขอกู้เสริมฐานะกว่า 4.3 หมื่นล้าน

ธนบัตร

รัฐวิสาหกิจแห่ขอกู้เงิน “เสริมสภาพคล่อง” ในปีงบประมาณ 2564 กว่า4 หมื่นล้านบาท “ร.ฟ.ท.” กู้สูงสุด 1.15 หมื่นล้าน “กฟผ.-กฟภ.” กู้รวมกัน 1.5 หมื่นล้าน สคร.ยอมรับโควิด-19 ฉุดรายได้รัฐวิสาหกิจ ขึงเป้าจัดเก็บ1.5 แสนล้าน บี้ทุกรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุน ด้านสภาพัฒน์จี้ “ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น-ตุนสภาพคล่อง” เตรียมรับมือระบาดรอบใหม่

รัฐวิสาหกิจแห่กู้เสริมสภาพคล่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบโควิด-19 ทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งต้องขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-ก.ย. 64) เนื่องจากบางแห่งต้องช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชาชน อาทิ ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำประปา เป็นต้น ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินตามแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2564 ไปแล้วตามแผนกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่กู้เพื่อดำเนินโครงการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนนั้น มีรัฐวิสาหกิจ 13 แห่งขอกู้เงินรวม 57,973.77 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจถึง 12 แห่งที่ขอกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงินรวมทั้งสิ้น 43,433.25 ล้านบาท ได้แก่

1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 11,500 ล้านบาท, 2.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 10,000 ล้านบาท, 3.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5,000 ล้านบาท, 4.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3,033.25 ล้านบาท, 5.บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 2,630 ล้านบาท, 6.การเคหะแห่งชาติ 2,440 ล้านบาท, 7.การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 2,000 ล้านบาท, 8.บมจ.ทีโอที 2,000 ล้านบาท, 9.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด 1,800 ล้านบาท, 10.การยาสูบแห่งประเทศไทย 1,500 ล้านบาท, 11.บมจ. อสมท 800 ล้านบาท และ 12.องค์การเภสัชกรรม 730 ล้านบาท

“รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ที่ขอกู้เสริมสภาพคล่อง เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด อย่างเช่น กฟผ. กฟภ. วิทยุการบินฯ เป็นต้น ส่วน ร.ฟ.ท.กับ ขสมก.ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรงไม่มาก แต่เป็นการขอกู้เสริมสภาพคล่องจากการดำเนินงานตามปกติอย่างกรณี ขสมก. เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะต้นทุนดำเนินงานที่สูง แต่ต้องเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงทำให้ขาดทุน ส่วน ร.ฟ.ท.ก็มีรายได้ดำเนินงานไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายดำเนินงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญ และได้รับเงินอุดหนุนชดเชยผลขาดทุนจากรัฐบาลล่าช้า”

รฟม.-ร.ฟ.ท.ขอกู้ 7 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการคลังมีแผนกู้เงินให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่งกู้ต่อ วงเงินรวม 74,007.02 ล้านบาท คือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กู้ต่อ 2 โครงการ รวม 13,181.91 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒธรรม-มีนบุรี วงเงิน 13,000 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ วงเงิน 181.91 ล้านบาท

และให้ ร.ฟ.ท.กู้ต่ออีก 6 โครงการ รวม 60,825.11 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 31,145.95 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร 11,940.98 ล้านบาท 3.โครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 9,107.26 ล้านบาท 3.โครงการกรถไฟทางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ 8,614.40 ล้านบาท 4.โครงการทางคู่สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 3 แห่ง 10.44 ล้านบาท 5.โครงการรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 6.08 ล้านบาท

สภาพัฒน์จี้ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ครม.ได้อนุมัติงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2564 วงเงินเบิกจ่าย 3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ไม่ได้ปรับลดลง ปีนี้นอกจากรัฐวิสาหกิจต้องเร่งให้เกิดการลงทุนโครงการที่จำเป็นแล้ว รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อเก็บสภาพคล่องไว้รองรับในกรณีหากเกิดโควิดระบาดอีกรอบ ซึ่งรัฐบาลต้องการให้รัฐวิสาหกิจช่วยดูแลประชาชน

“รัฐวิสาหกิจต้องเร่งให้เกิดการลงทุน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนขอให้ตัดไปก่อน ช่วงที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไปช่วยเรื่องมาตรการต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า อย่าง กฟภ.ต้องดูแลลูกค้า18 ล้านราย สภาพคล่องก็ดิ่งไปถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เพราะไม่ได้เตรียมเงินไว้รองรับเรื่องนี้มาก่อน สภาพคล่องจึงมีปัญหา แต่ก็รอดมาได้”

นายดนุชา กล่าวว่า แม้ด้านหนึ่งรัฐวิสาหกิจจะต้องตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่อีกขาหนึ่งก็ต้องเร่งการลงทุนให้ได้ 95% ตามเป้าหมาย ขณะที่ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายจริงได้ราว 90% เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่บางส่วนยังติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน อย่างโครงการลงทุนของ รฟม. เป็นต้น

“โควิด” ฉุดรายได้นำส่งแผ่นดิน

ขณะที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา สคร.สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% ได้ทั้งสิ้น 188,861 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายเงินนำส่งรายได้แผ่นดินตามเอกสารงบประมาณ 188,800 ล้านบาท

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 สคร.มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจนำส่งเข้าแผ่นดิน 159,800 ล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ และอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ ซึ่ง สคร.จะกำกับติดตามรายละเอียดอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวต่อไป

สำหรับการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบฯลงทุนเป็นสิ่งที่ สคร.ทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ตอนนี้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ ที่มีปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก อย่างเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ยังไม่ผ่าน ส่งผลให้ล่าช้า เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน, ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะที่ใช้กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) เป็นต้น ก็จะลงไปช่วยประสานว่าติดขัดตรงไหน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 สคร.ได้รับเป้าหมายเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนราว 3 แสนล้านบาท

บี้รัฐวิสาหกิจเร่งลงทุน

นายประภาศ กล่าวว่า จากที่ผ่านมามีรัฐวิสาหกิจปรับลดงบฯลงทุนจากแผนเดิม เนื่องจากปัญหาจากโควิด-19 เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ลดไปจากแผนเดิมมากกระทั่งมีนัยสำคัญ ซึ่ง สคร.ก็จะเข้าไปพิจารณาว่าการที่รัฐวิสาหกิจปรับลดมีเหตุจำเป็นอย่างไร อย่างการลงทุนในต่างประเทศที่ไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทย ซึ่งจะเน้นเร่งการลงทุนในประเทศเป็นหลัก และจะพยายามไม่ให้มีการปรับลดแผนการลงทุน

นอกจากนี้ สคร.ก็อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางให้รัฐวิสาหกิจนำแผนงบฯลงทุนเดิมเมื่อต้นปี 2563 กลับมาใช้ในปีงบประมาณ 2564 หลังจากที่รัฐวิสาหกิจได้มีการปรับลดแผนงบฯลงทุนลงในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ โดย สคร.มีการประสานไปที่สภาพัฒน์เพื่อหาแนวทางดูแลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากการปรับแผนงบฯลงทุนต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์


“สคร.จะเข้าไปดูรายละเอียดทุกภาคส่วน ซึ่งภายในเดือน ต.ค.นี้จะมีการประชุมติดตามการเบิกจ่ายงบฯลงทุนและแผนการจัดเก็บรายได้ของรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน หลังจากที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาทำงานแล้ว”