ธปท.เตรียมปรับรายงานดุลชำระเงินเป็นรายไตรมาส เริ่ม 30 ต.ค.นี้

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

แบงก์ชาติ ประกาศปรับความถี่การเผยแพร่ข้อมูลดุลบัญชีชำระเงินจาก รายเดือน เป็น รายไตรมาส เริ่ม 30 ต.ค.นี้ ชี้ ช่วยสะท้อนข้อมูลตามภาวะจริงมากขึ้น-ลดต้นทุนสถาบันการเงิน ลั่นเป็นมาตรฐานทั่วโลกกว่า 90% ปฏิบัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับเปลี่ยนความถี่การเผยแพร่บัญชีการเงิน (Financial Account :FA) ของดุลการชำระเงิน (Balance of Payment : BOP) จากเผยแพร่รายเดือน เป็น รายไตรมาส โดยการเผยแพร่ข้อมูล FA และ BOP รูปแบบใหม่จะเริ่มตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

โดย นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนความถี่การเผยแพร่ข้อมูลของบัญชีการเงินของดุลการชำระเงินจากรายเดือนมาเป็นรายไตรมาสนั้น เนื่องจากมองไปข้างหน้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ข้อมูลมีการปรับทิศได้ เพราะการเผยแพร่ข้อมูลรายเดือนจะใช้การประมาณการ ทำให้เกิดความต่างของตัวเลขเผยแพร่ขั้นต้นกับตัวจริง ซึ่งอาจจะเข้าใจผิด Mislead ผู้ใช้ข้อมูล

นายดอน นาครทรรพ
นายดอน นาครทรรพ

นอกจากนี้ การส่งรายงานดังกล่าวเป็นการสร้างต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน ธปท.จริงมีแนวคิดลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันการรายงานเป็นรายเดือน ทำให้แหล่งข้อมูลสำคัญหายไป จากการผ่อนปรนระเบียบการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และในอนาคตการเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ธปท.จึงเตรียมการไว้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ ข้อดีของการปรับความถี่ของการรายงานข้อมูล คือ ลดความสับสนของผู้ใช้ข้อมูล เนื่องจากการปรับแก้บ่อยครั้ง และ Revision size ที่มีขนาดใหญ่ รวมถึง ธปท.เผยแพร่ข้อมูลสำคัญแบบ indicative estimates โดยมีความล่าช้า lag time เพียง 1 เดือน ซึ่งผู้ใช้ข้อมูลสามารถนำข้อมูลจริงมาประเมิน เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ไทยเป็นประเทศที่รายงานตัวเลขดุลการชำระเงินเป็นรายเดือน ซึ่งทั่วโลกมากกว่า 90% จะรายงานเป็นรายไตรมาส และการรายงานเป็นรายไตรมาสไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แนะนำให้เผยแพร่ดุลการชำระเงินความถี่อย่างน้อยเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ ถือปฏิบัติ”