รื้อภาษีที่ดินจัดเก็บเป็นขั้นบันได คลังยืนเป้าโกยรายได้ 3 หมื่นล้านบาท/ปี

คลังยืนเป้าโกยรายได้ภาษีที่ดิน 3 หมื่นล้านบาท/ปี แม้ กมธ.เสียงส่วนใหญ่รื้ออัตราจัดเก็บใหม่เป็นขั้นบันไดทุกประเภทภาษี โดยกรณี “บ้านหลังหลัก” ยกเว้นภาษีให้บ้านราคา 20 ล้านบาท ส่วนเกินจากนั้นเก็บเป็นขั้นบันได

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ยังคงเป้าหมายการเก็บรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระยะแรกให้ได้ที่ระดับ 30,000 ล้านบาท/ปีเช่นเดิม แม้ว่าขณะนี้จะมีการปรับปรุงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราการเก็บภาษีที่ดินฯ ใหม่ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งล่าสุดได้ขยายระยะเวลาพิจารณาถึงสิ้น พ.ย.นี้ น่าจะได้ข้อยุติ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการเก็บข้อมูลเรื่องนี้ต้องใช้เวลา เนื่องจากระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ออนไลน์และไม่เชื่อมกัน แถมข้อมูลยังมีจำนวนมาก อาทิ ประเภทกิจการที่แตกต่างกัน เป็นต้น แต่เชื่อว่าจะเร่งหาข้อสรุปได้ภายใน พ.ย. และจะเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2562 โดยใช้ฐานข้อมูลราคาประเมินในปี 2561 เป็นฐานในการคำนวณเพื่อจัดเก็บภาษี

“ตอนนี้กำลังทดสอบข้อมูลอยู่ ถึงแม้ว่าฐานภาษีจะเป็นคนละฐาน โดยฐานเดิมถ้าเป็นกรณีที่อยู่อาศัยกับเกษตรกรรมจะเสียภาษีบำรุงท้องที่ แต่ถ้าประกอบธุรกิจหรือบริการจะใช้ฐานภาษีโรงเรือน ซึ่งข้อมูลจริง ๆ แล้วเราเคยประมาณการไว้ แต่ก็นานพอสมควรแล้ว ช่วงนี้จึงเก็บข้อมูลจริงเลย ว่าเขาเคยเสียเท่าไร มาวันนี้ถ้าเป็นฐานภาษีใหม่จะเป็นอย่างไร แล้วท้องถิ่นจะมีรายได้เท่าไหร่ ตอนนี้ที่ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ 30,000 ล้านบาทก็อาจจะถึง แต่ก็จะมีรายการลดหย่อน มีการหักภาษีของนิติบุคคลอีก”

นายวิสุทธิ์กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บรายได้เองอยู่เพียง 11-12% ส่วนที่เหลือเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยแต่ละ อปท.ก็จัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่างกัน ขึ้นกับศักยภาพแต่ละแห่ง ดังนั้นการกำหนดเพดานก็ไม่ควรต่ำเกินไป เพราะจะทำให้บาง อปท.ที่มีศักยภาพไม่สามารถปรับขึ้นอัตราภาษีได้ อย่างไรก็ดี แม้จะเปิดให้ อปท.เก็บภาษีอัตราแตกต่างกันได้ แต่การพิจารณาอนุมัติให้ขึ้นภาษี ต้องผ่านคณะกรรมการภาษีที่ดินประจำจังหวัด ที่มีหลายภาคส่วนร่วมอยู่

“ในระยะแรกคงไม่ได้เงินภาษีอะไรมากมาย แต่ระยะยาวจะเป็นการวางรากฐานให้คนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ และมีส่วนร่วมในการควบคุมการบริหารงานของ อปท. รวมถึงให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ใช้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคทั้งหลาย”

ทั้งนี้ การเริ่มเก็บภาษีที่ดินฯ ทาง กมธ.ให้ความสำคัญกับทั้งความสามารถในการเสียภาษีของประชาชน และความเต็มใจที่จะชำระภาษีด้วย โดยขณะนี้เสียงส่วนใหญ่ใน กมธ.เห็นควรให้ลดการยกเว้นภาษีให้แก่บ้านหลังหลัก จากเดิมกำหนด 50 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท และส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป จะจัดเก็บแบบขั้นบันได รวมถึงประเภทที่ดินอื่น ๆ อย่างที่ดินเพื่อการพาณิชย์ก็จัดเก็บเป็นขั้นบันไดเช่นกัน

“ภาษีน่าจะเก็บเป็นขั้นบันได เพราะความสามารถในการเสียภาษีไม่เท่ากัน อย่างเอสเอ็มอีกับรายใหญ่ ความสามารถจะไม่เท่ากัน ก็ต้องเสียเป็นขั้นบันได เช่น บ้านราคา 30 ล้านบาท ก็จะได้รับยกเว้น 20 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินไปอีก 10 ล้านบาทจะเสีย สมมุติว่าเก็บ 0.02% ก็จะเสียแค่ 2,000 บาทต่อปี ถ้าบ้าน 50 ล้านบาท ก็เสีย 6,000 บาท แต่ย้ำว่าอันนี้ยังเป็นตัวเลขสมมุติ” รมช.คลังกล่าว