ผู้ว่า ธปท. ชี้ “จีดีพี” ฟุบไม่ฟื้นถึงปีหน้า แบงก์ห่วงลูกหนี้ 6% ติดต่อไม่ได้

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชำแหละเศรษฐกิจไทย “ฟื้นตัวไม่เท่าเทียม-ใช้เวลานาน-ความไม่แน่นอนสูง” ประเมินจีดีพีจะติดลบต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ยืนยันมาตรการแก้หนี้เน้นให้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ตามอาการ พร้อมต่อเวลาให้ลูกหนี้ถึงสิ้นปี ธปท.ยอมรับการเมืองกระทบเชื่อมั่น-ลงทุน สมาคมแบงก์เผยเจ้าหนี้สามารถต่อพักหนี้ได้อีก 6 เดือน ห่วงกลุ่มลูกหนี้ 6% ที่ติดต่อไม่ได้

จีดีพีติดลบถึงไตรมาส 1/64

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นช็อกที่เข้ามากระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ที่เห็นคือภาคการท่องเที่ยวจากที่คาด 40 ล้านคน เหลือ 7 ล้านคน คิดเป็นรายได้หายไปราว 1.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของจีดีพีที่หายไป และเครื่องยนต์ภาคการส่งออกที่โดนกระทบจากการล็อกดาวน์ของต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไตรมาส 2 หดตัวแรงที่สุดในรอบ 11 ปี

ภาพหลังจากคลายล็อกดาวน์พบว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจเปลี่ยนไป 3 ด้าน คือ 1.การฟื้นตัว “ไม่เท่าเทียม” บางเซ็กเตอร์กลับมาได้ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เริ่มกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19 และบางเซ็กเตอร์กระทบหนัก เช่น โรงแรม กลับมาได้แค่ 25% หรือในเซ็กเตอร์โรงแรม แต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่าเทียมกัน เช่นในภูเก็ตนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แต่โรงแรมในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯกลับมาดีขึ้น ทำให้การฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการแก้ปัญหา

และ 2. “ปัญหายาวและนาน” โดย ธปท.มองจีดีพีปีนี้หดตัว -7.8% และหลังจากนี้จะติดลบทุกไตรมาสยาวไปถึงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยคาดว่าจะเห็นกลับมาบวกในไตรมาส 2 และเห็นการฟื้นตัวช้า ๆ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ในไตรมาส 3/2565 และ 3.”ความไม่แน่นอนสูง” โดยไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการระบาดรอบ 2 วัคซีนจะมาเมื่อไร และนักท่องเที่ยวมาได้ตอนไหน ซึ่งไม่มีคำตอบชัดเจน ซึ่งความไม่แน่นอนจึงเป็นตัวถ่วงกิจกรรม ทำให้การบริโภคและลงทุนอยู่ในหมวดรอคอย

งัดแผนจัดการหนี้ครบวงจร

ผู้ว่าการแบงก์ชาติเปิดเผยว่า แนวทางแก้ปัญหาจะต้องปรับจากการใช้มาตรการปูพรมแบบเหมาเข่ง เนื่องจากช่วงแรกปัญหามาเร็วและแรง ทำให้การดำเนินมาตรการทั้งในส่วนนโยบายการเงิน-การคลังต้องทำแบบปูพรม แต่ปัจจุบันบริบทเศรษฐกิจ-การฟื้นตัวเปลี่ยนไป จึงต้องปรับจาก “ปูพรม” เป็น “targeted” ตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร เพราะมองไปข้างหน้า

“โจทย์ไม่ใช่เฉพาะการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ต้องมองไปใน 2 ปีข้างหน้าว่าจะเจออะไรบ้าง และจะมีเครื่องมืออะไรมารองรับ ไม่ใช่แค่การแช่แข็งหนี้และให้สินเชื่อ แต่ต้องทำให้การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเร็ว และท้ายที่สุดวิธีการจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รวมถึงต้องมีเครื่องมือครบและหลากหลาย เพราะปัญหายาวและมีความไม่แน่นอนสูง”

ต่อเวลาให้ลูกหนี้ถึงสิ้นปี

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องคิดถึงผลข้างเคียงด้วย เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาระยะสั้นบั่นทอนการฟื้นตัวในระยะยาว เช่น มาตรการพักหนี้ที่จะสิ้นสุด 22 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นประกาศช่วงที่มีการล็อกดาวน์ จึงแช่แข็ง แต่เวลาผ่านไปมีการฟื้นตัว ทำให้การแช่แข็งไม่ใช่โจทย์ จึงหันมาทำมาตรการให้ตรงจุด และแยกแยะ เช่น คนที่ผ่อนไหวผ่อนได้ หรือกลุ่มคนที่ชำระไม่ได้ก็มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และให้เวลามาคุยกับธนาคารถึงสิ้นเดือน ธ.ค. หรือกลุ่มคนที่มีปัญหากระแสเงินสดก็สามารถคุยกับธนาคารเพื่อต่อมาตรการพักชำระหนี้ได้ 6 เดือน ถึง มิ.ย. 64

“ผลข้างเคียงมีเยอะ และหากเราสร้างแรงจูงใจไม่ได้ จะกลายเป็นวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ moral hazard ซึ่งอันตรายมาก และขยายวงกว้างจะไม่ดีต่อระบบ และหากพักหนี้นาน 1 ปี กระแสเงินสดจะหายไปจากระบบปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะเราต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วยนอกจากลูกหนี้ เช่น ผู้ฝากเงิน สถาบันการเงิน และ ธปท.จะมีแนวทางอื่น ๆ ที่จะทำให้สอดคล้อง แต่แนวทางการดูแล ยาที่จะออกมาเพิ่มเติมกำลังดูอยู่ ต้องใช้เวลา ไม่สักแต่คลอดมาตรการ แต่ยาต้องได้ผลด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีความเร่งด่วน”

ปัญหาหนักแต่แก้ได้

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ปัญหาครั้งนี้หนักและนาน แต่แก้ไขได้ แต่ก็ต้องใช้เวลา เนื่องจากปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก และผู้ทำนโยบายไม่เคยเจอมาก่อน เพราะถ้าเป็นปัญหาวิกฤตแบบเดิม เช่น ค่าเงิน เศรษฐกิจ จะมีตำราบอกว่าการแก้ไขจะเป็นแนวทางชัดเจน แต่ครั้งนี้เป็นของใหม่ ทุกคนต้องดำเนินในสไตล์ “ลองผิดลองถูก” ต้องปรับแก้กันไประหว่างทาง เพราะมาตรการที่ออกมาอาจจะไม่เหมาะสม ทำให้ต้องมีความยืดหยุ่น

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีความหวัง คือ 1.การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่นที่ดูเหมือนจะเกิดการระบาดรอบใหม่ และ 2.เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในเรื่องของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ 19% สูงกว่าประเทศในภูมิภาค และสภาพคล่องที่มีเพียงพอในการรองรับช็อก และ 3.เสถียรภาพด้านต่างประเทศเข้มแข็ง โดยหนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำ 4.หนี้สาธารณะยังต่ำกว่าเพดานหนี้ และ 5.ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น เช่น คนตกงานแต่สามารถหางานใหม่ทำได้ แต่ตลาดแรงงานยังเป็นโจทย์สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มชั่วโมงการทำงานลดลง ทำให้รายได้ลดลง

ธปท.ห่วงการเมืองกระทบเชื่อมั่น

นอกจากนี้นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงติดตามว่าปัญหาดังกล่าวลากยาวหรือไม่ แต่เบื้องต้นเชื่อว่าปัจจัยทางการเมือง กระทบต่อความเชื่อมั่น การลงทุน การบริโภค และการท่องเที่ยว ไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อใด ซึ่งสิ่งที่ ธปท.กังวลคือ กระทบต่อความสามารถการจัดการในด้านต่าง ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาบ้านเราพูดเรื่องนโยบายเยอะ แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องการจัดการจะเป็นอย่างไร และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าไทยจะมีความสามารถในการรองรับช็อกได้ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สภาพัฒน์เกาะติดแก้หนี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 21 ต.ค.นี้ ไม่ได้มีการนัดประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เนื่องจากนายกรัฐมนตรี มีภารกิจ สำหรับเรื่องการรับมือมาตรการพักหนี้ที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค.นั้น เรื่องดังกล่าวอยู่ในกรอบความรับผิดชอบของ ธปท. อยู่แล้ว
โดยธปท.ใช้วิธีให้แต่ละแบงก์ไปพิจารณากับลูกค้าของตัวเอง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาแบงก์ก็มีการคุยกับลูกหนี้ ตรวจสอบลูกค้าทั้งหมดแล้ว ธปท. ก็เลยออกมาเป็นรูปแบบที่ได้ประกาศไป และก็มีการขยายซอฟต์โลนให้อีก 6 เดือน และเพิ่มขอบเขตให้ครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ด้วย ก็คงมีเท่านี้ก่อน หากสุดท้ายจะมีอะไรเพิ่ม ก็คงต้องมาดูว่ากันไปตามสถานการณ์

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า ระยะต่อไปกลไกการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คงมีบทบาทมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด ยังไม่ได้ข้อยุติตามที่เอกชนเสนอให้ขยายการรับประกันจาก 30% เป็น 50% เนื่องจากต้องมาพิจารณาในแง่เงินทุนที่จะต้องใช้ รวมถึงความจำเป็นก่อนด้วย

กกร.แนะ SMEs ติดต่อเจ้าหนี้

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ต.ค.นี้จะสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ข้อมูลที่ได้รับจาก ธปท.ระบุว่า มีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ 1. กลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการซึ่งมีกว่า 60% ของยอดหนี้ 2. กลุ่มที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ให้สถาบันการเงินดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถลูกหนี้มีประมาณกว่า 20%

3) กลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งหลังหมดโครงการ ธปท.ให้แบงก์ขยายเวลาพักหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563 ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 10% และ 4. กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน คาดว่ามีประมาณ 6% ของยอดหนี้

“ธปท.ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานะจัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้แต่ละราย ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ พร้อมเปิดช่องทางให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาในการติดต่อสถาบันการเงิน”

แบงก์ต่อพักหนี้ได้อีก 6 เดือน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า แม้มาตรการพักชำระหนี้จะหมดลง แต่ ธปท.ก็มีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถมาชำระหนี้ได้ โดยให้สถาบันการเงินพิจารณาชะลอการชำระหนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 64 แต่สำหรับลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติแล้วก็สามารถออกจากมาตรการเดิมโดยทั้งระบบของธนาคารมีกว่า 85% แล้ว

ในส่วนของลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ทางธนาคารพาณิชย์มีมาตรการต่าง ๆ ที่ลูกหนี้แต่ละรายมีความต้องการที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม อาทิ ยืดตารางการชำระหนี้, ลดงวดยอดชำระหนี้, ลดการชำระเงินต้น, ลดดอกเบี้ย ขณะที่ลูกหนี้ติดต่อได้แต่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ทั้งระบบมีอยู่ประมาณ 10% ส่วนที่เหลืออีก 6% คือลูกหนี้ที่ยังติดต่อไม่ได้

ทั้งนี้ลูกหนี้กลุ่มที่ยังติดต่อไม่ได้เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดหากไม่เข้ามาพูดคุย จึงอยากให้เร่งเข้ามาพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ เพราะเรามีมาตรการที่เหมาะสมรองรับแต่ละสถานการณ์ของผู้ประกอบแต่ละราย ขณะนี้ทุกธนาคารมีการตั้งสำรองรับมือตามเกณฑ์เหล่านี้อยู่แล้ว

“สิ่งที่ ธปท.เริ่มผ่อนคลายคือเริ่มให้หน้าผามีความชันลาดลงมา ซอฟต์แลนดิ้ง มากกว่าที่ทั้งระบบไปชนหน้าผา”


ทั้งนี้ส่วนลูกหนี้ที่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติแล้ว 85% ก็มีโอกาสตกชั้น เพราะฝุ่นยังไม่หายตลบ ขณะที่ต้องยอมรับว่า ธปท.ให้เครื่องมือธนาคารเพียงพอ และยืดหยุ่น ให้แบงก์สามารถสะท้อนกับการมีมาตรการต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสม