ค่าเงินบาทผันผวนก่อนวันหยุดยาว จับตาสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศ

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/10) ที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (21/10) ที่ระดับ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ หลังการเจรจาข้อตกลงเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐใกล้จะบรรลุข้อตกลงแล้ว

อย่างไรก็ดี นางแนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ยอมรับว่ามาตรการนี้อาจจะไม่ผ่านสภาคองเกรสจนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.ไปแล้ว

ในส่วนของค่าเงินบาทแข็งค่าจากระดับปิดเมื่อวาน (21/10) เพียงเล็กน้อย โดยค่าเงินบาทถือว่าแข็งค่าน้อยกว่าสกุลอื่นในภูมิภาคอยู่มาก เนื่องจากตลาดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในไทยที่ดูตึงเครียดมากขึ้น แม้ว่าในช่วงสายวันนี้ ทางกรมศุลกากรได้ประกาศตัวเลขนำเข้าและส่งออกของไทยในเดือนกันยายนหดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

โดยยอดนำเข้าเดือนกันยายนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.08 ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่หดตัวร้อยละ 16.25 และยอดส่งออกเดือนกันยายนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.89 ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่หดตัวร้อยละ 4.08 อย่างไรก็ตามดุลการค้าไทยกลับเกินดุลการค้าน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยในเดือนกันยายนไทยเกินดุลการค้าอยู่ที่ 2.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าไทยจะเกินดุลการค้าที่ 3.55 พันล้าเหรียญสหรัฐ

ในขณะที่ช่วงเที่ยงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงประกาศคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.21-31.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/10) ที่ระดับ 1.1845/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวานนี้ (21/10) ที่ระดับ 1.1849/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาค่าเงินยูโรแข็งค่าจนไปแตะระดับ 1.1879 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากนายเดวิด ฟรอสท์ หัวหน้าผู้เจรจาต่อรองของอังกฤษในเรื่อง Brexit กล่าวว่า การเจรจาต่อรองกับสหภาพยุโรป จะดำเนินต่อไปในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีนี้ (22/10)

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1831-1.1866 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1835/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/10) ที่ระดับ 104.64/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/10) ที่ระดับ 104.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นต่อภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีในเดือนกันยายน สู่ระดับ -75.6

ทั้งนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาแถลงการณ์ในวันนี้เพื่อยืนยันว่า ระบบการเงินของประเทศยังมีเสถียรภาพแม้จะมีเหตุความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมากมายจากภาวะวิกฤตของเชื้อไว้รัสก็ตาม ในขณะเดียวกันอากิระ อามาไร หัวหน้าคณะกรรมาธิการด้านภาษีของพรรคแกนนำรัฐบาลก็ได้เปิดเผยในวันนี้ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ผ่านงบประมาณรอบที่ 3 ในเดือนธันวาคม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.45-104.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (22/10), ยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐ เดือนกันยายน (22/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนี เดือนตุลาคม (23/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนี เดือนตุลาคม (23/10), ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนี จากสถาบัน Ifo เดือนตุลาคม (23/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยูโรโซน เดือนตุลาคม (23/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรับเดือนตุลาคม (23/10)

สำหรับอัตราป้องกันคความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.45/0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.40/4.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ