“หุ้นภูธร” ต่อคิวเข้าเทรด นักลงทุนตอบรับดี “ราคาวิ่ง”

ตลาดหุ้นไทย

ในปี 2563 นี้ ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯกันต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงต้นปีจะชะลอตัวไป จากผลกระทบโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์เมือง โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีบริษัทที่เตรียมเข้าระดมทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ SET และตลาดmai ด้วยกันทั้งสิ้น 30 บริษัท

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พบว่า บริษัทที่มีธุรกิจอยู่ในต่างจังหวัดเข้ามาระดมทุนหลายราย โดยที่มีการเข้าซื้อขายวันแรกไปแล้ว ได้แก่ บมจ.ไมโครลิสซิ่ง(MICRO) ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง สินเชื่อรถบรรทุกและรถบรรทุกมือสอง จาก จ.นครปฐม, บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) บริษัทผลิตถุงมือยางทางการแพทย์รายแรกของ จ.ตรัง และ บมจ.เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น(KK) ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯในระยะถัดไปอาทิ บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย จาก จ.อุตรดิตถ์ และ บมจ.ดีเฮ้าส์พัฒนา (DHOUSE) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ใน จ.มหาสารคาม

ขณะที่ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2560-2662) พบว่า มีธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่หรือเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในต่างจังหวัดเป็นหลักเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ประมาณ 12 บริษัท ประกอบด้วย ธุรกิจที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ประมาณ 5 บริษัทแบ่งเป็น ปี 2560 จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ จาก จ.ตรัง (WPH), บมจ.ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (SKN) จาก จ.ระยอง และ บมจ.โรงพยาบาลราชพฤกษ์ (RPH) จ.ขอนแก่น ส่วนในปี 2561 จำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) จ.บุรีรัมย์ และปี 2562 จำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.ดูโฮม (DOHOME) จาก จ.อุบลราชธานี

และที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ประมาณ 3 บริษัท ประกอบด้วย ปี 2560 จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.ซันสวีท(SUN) และ บมจ.เชียงใหม่ริมดอย (CRD) จาก จ.เชียงใหม่ ขณะที่ปี 2561 จำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค (KWM) ที่มีโรงงานตั้งอยู่ใน จ.ระยอง และปี 2562 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.เอสทีซี คอนกรีตโปรดัคท์ (STC) และ บมจ.อรินสิริ แลนด์ (ARIN) จาก จ.ชลบุรี, บมจ.ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง (ACG) จาก จ.ขอนแก่น และ บมจ.ซี เอ แซด (CAZ) จาก จ.ระยอง

ทั้งนี้ “แมนพงศ์ เสนาณรงค์” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย ว่า ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนประชาสัมพันธ์ตลาดทุนให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ โดยทุกปีจะร่วมกับกลุ่มที่ปรึกษาการเงิน (FA) และธนาคารจัดหลักสูตร “IPO Focus สัญจร” ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อแนะนำข้อมูลแก่ธุรกิจที่มีความสนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น จึงทำให้ที่ผ่านมามีธุรกิจจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้ามาระดมทุนกันเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ ย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดูแล ดังนั้น ในปี 2563 นี้ เราจึงยังไม่มีการจัดหลักสูตร IPO Focus สัญจร อย่างที่ผ่านมา แต่หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะจัดหลักสูตรดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไป โดยกลุ่มผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ถือเป็นกลุ่มที่เราให้ความสนใจมาโดยตลอด และหวังว่าจะสามารถขยายตลาดได้มากขึ้นในระยะถัดไป”

ขณะที่ “รัฐชัย ธีระธนาวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทมองว่าผู้ประกอบการในต่างจังหวัดไม่มีความแตกต่างกับธุรกิจอื่นที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งบริษัทจะคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสเติบโตของธุรกิจเป็นสำคัญ โดยธุรกิจส่วนมากที่เข้ามาใช้บริการวาณิชธนกิจของ บล.เคทีบี มาจากการบอกต่อหรือแนะนำในกลุ่มลูกค้าด้วยกันเอง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีดีล IPO ที่ดูแลอยู่มากกว่า 10 บริษัท กระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีการเงิน (FinTech), ระบบทำความเย็น, สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภค/บริโภค เป็นต้น

“บริษัทเพิ่งนำ บมจ.เคแอนด์เค ซุปเปอร์สสโตร์ เซาท์เทิร์น (KK) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และสตูล ซึ่งนักลงทุนให้การตอบรับเป็นอย่างดี” นายรัฐชัยกล่าว

ทั้งหมดนี้ เป็นภาพของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯของธุรกิจในต่างจังหวัดที่นับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งการตอบรับของนักลงทุนก็ถือได้ว่า เป็นไปในทิศทางที่ดี