บิ๊กประกันเชียร์รื้อเกณฑ์ลงทุน เปิดทางลุย “อินฟราฯบอนด์-ปล่อยกู้ร่วม”

3 บิ๊กค่ายประกันเชียร์ คปภ.รื้อเกณฑ์ลงทุน เปิดทางซื้อ “หุ้นกู้โครงสร้างพื้นฐาน-ปล่อยกู้ซินดิเคตโลน” หวังช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้ “พอร์ตลงทุน 4 ล้านล้านบาท” ในภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน “นายกสมาคมประกันชีวิตไทย” ชี้เอฟเฟ็กต์ “บอนด์ยีลด์ต่ำ” เริ่มเห็นสัญญาณประกันโยกเงินออกไปลงทุน “ต่างประเทศ-อสังหาฯ-ตลาดหุ้น” มากขึ้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ คปภ.มีแนวคิดจะขยายขอบเขตให้ธุรกิจประกันภัยสามารถลงทุนในหุ้นกู้โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure bond) ได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขยายพอร์ตลงทุนให้กับธุรกิจประกันในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ยังได้รับข้อเสนอจากสมาคมประกันชีวิตไทยมาศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถปล่อยกู้ร่วม (syndicated loan) หรือขยายสินเชื่อสำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชนได้โดยตรง (infrastructure loan) จากเดิมสามารถปล่อยกู้ให้บุคคลธรรมดา มีทั้งเพื่อที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 110% ของหลักประกัน (รวมค่าตกแต่ง) ส่วนกรณีกู้ยืมอื่น ๆ ให้ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน

ด้านกรณีให้กู้แก่นิติบุคคล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ไม่เกิน 70% ของราคาประเมิน ทั้งนี้ ต้องจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องการเปิดให้กู้ยืมโดยมีตราสารทุนหรือหน่วยลงทุนจำนำเป็นประกัน และให้กู้ยืมสกุลเงินบาทโดยมีสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศค้ำประกัน แต่ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับลงทุน (investment grade) รวมไปถึงลงทุนให้เช่าซื้อรถได้ แต่ไม่เกินรายละ 90% ของราคาตลาดของรถนั้น

“ถ้าเราจะเปิดให้บริษัทประกันทำซินดิเคตโลน หรือปล่อยกู้พวกโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ๆ ได้โดยตรง คงต้องมีหลักประกันในแง่ของการคาดการณ์รายได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะโครงการพวกนี้อาจจะสะดุดระหว่างทางได้ เช่น อาจจะเวนคืนไม่ได้, มีการประท้วง, ถูกฟ้องร้อง ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะโครงการยังสร้างไม่เสร็จ (greenfield) จะเสี่ยงสูง เพราะยังไม่มีรายได้ชัดเจน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันภัย มีสินทรัพย์ลงทุนรวมกว่า 4.4 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (insurance penetration) อยู่ที่ 5.3% มาจากพอร์ตลงทุนธุรกิจประกันชีวิต มูลค่า 3.9 ล้านล้านบาท และธุรกิจประกันวินาศภัยอีกกว่า 5 แสนล้านบาท

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผลตอบแทนจากพันธบัตร หรือตราสารหนี้ต่ำลงไปมาก จึงเห็นบริษัทประกันเริ่มโยกเงินในบอนด์ ซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่ของธุรกิจประกันไปลงทุนต่างประเทศ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างมาก เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็จะอยู่ภายใต้ขอบเขตการลงทุนที่ คปภ.อนุญาต โดยมีการตั้งเงินสำรองรับความเสียหาย (risk charge) ไว้ค่อนข้างสูง

“หากเปิดให้ธุรกิจประกันเข้าไปมีส่วนร่วมในการปล่อยกู้โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ๆ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ได้ แน่นอนว่าภาคธุรกิจต้องกลั่นกรองและให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงกันอยู่แล้ว” นายสาระกล่าว

นายไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า เดิมแม้จะเปิดให้มีการปล่อยสินเชื่อได้แต่ก็แข่งขันดอกเบี้ยสู้แบงก์ไม่ได้ จึงไม่ค่อยได้ปล่อยกู้แล้ว ดังนั้น หากรัฐเปิดให้บริษัทประกันปล่อยกู้ร่วมได้ ก็ถือว่าน่าสนใจ ซึ่งทางบริษัทก็ต้องมาพิจารณาใหม่ อย่างไรก็ดี การจะเลือกปล่อยกู้โครงการใหญ่ ๆ คงต้องศึกษาถึงผลตอบแทนในระยะยาวที่จะมาแมตชิ่งกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทออกมาด้วย

“ตอนนี้คงยังประเมินยีลด์ (ผลตอบแทน) ที่คาดหวังได้ลำบาก แต่การเตรียมพร้อมก็อาจจะจัดพอร์ตลงทุนใหม่ เพื่อแบ่งเงินไว้สำหรับลงทุนส่วนนี้” นายไชยกล่าว

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทค่อนข้างสนใจแนวทางการปล่อยกู้ร่วม และมีเงินทุนรองรับการจะเป็นผู้นำ (lead) ในการปล่อยกู้ร่วมด้วย รวมถึงบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว

“บริษัทประกันคงต้องบริหารจัดการความเสี่ยงกันเอง ซึ่งต้องมีความเข้าใจในรายละเอียดก่อนที่จะเข้าไปลงทุน ต้องดูกระแสเงินสด (cash flow) จากลูกค้ามีความเสี่ยงหรือไม่ในภาวะแบบนี้” นางนุสรากล่าว