การพลิกฟื้นธุรกิจ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

ท่านผู้อ่านครับ เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ดูสารคดีทางโทรทัศน์ของญี่ปุ่นรายการหนึ่งที่กล่าวถึงการพลิกฟื้นธุรกิจของการรถไฟท้องถิ่นในจังหวัดอิบารากิที่มีผู้ใช้บริการลดน้อยถอยลงจนขาดทุนอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลท้องถิ่นต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยให้รถไฟสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ สถานการณ์ของการรถไฟที่ผมพูดถึงนี้ ก็ไม่ต่างกับธุรกิจทั่ว ๆ ไป ที่แม้จะได้ดำเนินธุรกิจมายาวนาน แต่หากไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป กิจการนั้นก็ยากที่จะอยู่รอดได้ ผมจึงนำเรื่องนี้มาเล่าต่อให้ท่านผู้อ่านนำไปพิจารณาเป็นแนวทางในการพลิกฟื้นหรือปรับปรุงธุรกิจของท่าน ดังนี้ครับ

เส้นทางรถไฟสายมินาโตะนี้มีความยาวเพียง 14.3 กิโลเมตร โดยให้บริการเฉพาะในเมืองฮิตาชินากะ เปิดให้บริการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1907 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจะครบ 110 ปี ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ กิจการมีการเปลี่ยนมือมาหลายครั้งและประสบปัญหาทางการเงินมานาน จนในท้ายที่สุดก็มาอยู่ภายใต้บริษัท Hitachinaka Seaside Railway ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับบริษัทเอกชนในปี 2550 โดยยอดผู้โดยสารในขณะนั้นมีอัตราลดลงเหลืออยู่ประมาณปีละ 7 แสนคน ซึ่งดูจากระยะทางก็คงพอจะเห็นภาพว่าค่อนข้างสั้น ผู้โดยสารส่วนใหญ่จึงหันไปใช้รถยนต์แทน เมื่อรถไฟสายนี้มาอยู่ในมือของบริษัท Hitachinaka Seaside Railway บริษัทได้ส่งคุณชิอะกิ โยชิดะ มาเป็นผู้บริหาร ชายคนนี้เคยบริหารเส้นทางรถไฟท้องถิ่นสายอื่นจนประสบความสำเร็จมาก่อน จึงได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาพลิกฟื้นกิจการ

เนื่องจากรถไฟสายนี้มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ร่วมทุน คุณโยชิดะจึงเริ่มต้นงานของเขาด้วยการดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนเป็นอันดับแรก โดยคุณโยชิดะ พยายามเข้าร่วมการประชุมของชุมชนแทบทุกครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวเมือง อีกทั้งเขายังใช้โอกาสจากการประชุมนี้เพื่อบอกเล่าปัญหาในฝั่งของการรถไฟ หรือขอความร่วมมือจากคนในชุมชน คุณโยชิดะกล่าวว่า การพูดคุยกันอย่างจริงใจของทั้งสองฝ่าย ทำให้ชาวเมืองที่ไม่ต้องการเสียรถไฟสายนี้ไป พร้อมใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของชมรมคนรักรถไฟสายมินาโตะรวมแล้วมีจำนวนกว่า 2,000 คน

จากการสำรวจเส้นทางการเดินรถ คุณโยชิดะพบว่า ตลอดเส้นทางรถไฟมีโรงเรียนมัธยมตั้งอยู่ถึง 3 แห่ง แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักขับรถไปส่งลูก ๆ เขาจึงเริ่มออกบัตรโดยสารรายปีสำหรับนักเรียนในราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนหันมาใช้บริการ โดยบัตรรายปีนี้คือที่มาของรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำสำหรับการรถไฟ เขายังเพิ่มที่จอดรถในแต่ละสถานี เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้รถยนต์มาใช้บริการรถไฟให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดตลาดนัดทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยให้ชาวบ้านนำพืชผลและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมาขายบริเวณสถานีรถไฟ ในขณะที่สมาชิกชมรมคนรักรถไฟสายมินาโตะก็จัดกิจกรรมเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวของเมืองฮิตาชินากะในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ชอบเดินทางโดยรถไฟ อาทิ การจัดทำแผนที่ท่องเที่ยว การโปรโมตงานประเพณีของเมือง และการโปรโมตร้านค้าตามสถานีรถไฟ พร้อมมอบคูปองส่วนลดต่าง ๆ โดยทุก ๆ กิจกรรมที่ชมรมจัดขึ้นจะมีการประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง

ตลอด 10 ปีของการปรับเปลี่ยนและหาแนวทางเพื่อสร้างรายได้ ปรากฏว่า ยอดผู้โดยสารรถไฟที่เคยลดลงทุกปีกลับเพิ่มขึ้นเป็นปีละเกือบหนึ่งล้านราย โดยในปีที่ผ่านมา คุณโยชิดะได้คิดแผนเพิ่มยอดผู้โดยสารจากผู้ที่มาร่วมงานเทศกาลดนตรี Rock in Japan ซึ่งเป็นหนึ่งในงานดนตรีร็อกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น งานนี้จัดขึ้นปีละครั้ง ครั้งละ 3 วัน ณ Hitachi Seaside Park เมืองฮิตาชินากะ

โดยสถานที่จัดงานอยู่ห่างจากสถานีปลายทางของรถไฟสายมินาโตะเพียง 3 กิโลเมตร คุณโยชิดะจึงทำการโปรโมตให้ผู้ที่เข้าชมงานหันมาใช้รถไฟสายมินาโตะ แทนการใช้รถไฟสายหลักซึ่งมีผู้โดยสารแน่นอยู่แล้ว โดยได้จัดรถบัสไว้รอรับผู้โดยสารรถไฟจากสถานีสุดท้ายไปยัง Hitachi Seaside Park เชื่อไหมครับว่าตลอด 3 วันของเทศกาลดนตรีมีคนใช้รถไฟสายมินาโตะเพิ่มขึ้นอีกหลายพันคน

ข่าวนี้กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ ณ ตอนนี้คุณโยชิดะได้รับงบประมาณเพิ่มเพื่อขยายเส้นทางรถไฟสายมินาโตะไปอีก 3 กิโลเมตร โดยในปี 2567 ชาวร็อกที่เดินทางไปงานเทศกาลดนตรีจะได้นั่งรถไฟสายนี้ไปถึงบริเวณงานเลย นอกจากนี้ ความสำเร็จของรถไฟสายมินาโตะทำให้คุณโยชิดะได้รับเชิญไปบรรยาย และให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารเส้นทางรถไฟสายอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน


ท่านผู้อ่านครับ หากธุรกิจของท่านกำลังมีปัญหา ท่านอย่าเพิ่งถอดใจ ลองมองไปรอบ ๆ สิครับ ว่ามีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำ หรือมีหนทางจะหารายได้เพิ่มจากตรงไหนได้อีกบ้าง เรื่องราวของคุณโยชิดะกับรถไฟสายมินาโตะนี้ให้ข้อคิดกับผมหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามอย่างไม่ท้อถอย การสร้างความแตกต่าง การดึงคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม การแสวงหาโอกาสจากสิ่งที่มีอยู่ และที่สำคัญคือการมีจิตใจเข้มแข็งและพร้อมสู้ ผมหวังว่าท่านผู้อ่านที่ทำธุรกิจอยู่ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด คงจะได้รับประโยชน์จากเรื่องที่ผมนำมาเล่าต่อนี้ไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้านะครับ