จับตา “ค่าเงิน” หลังเลือกตั้งสหรัฐ ปีหน้ามีลุ้น 29 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงนี้ค่อนข้าง “ทรงตัว” และ “เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ” โดยปัจจัยสำคัญจะมาจากทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐที่ขณะนี้อยู่ในช่วงรอลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.นี้เป็นสำคัญ

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) วิเคราะห์ว่า การที่ช่วงนี้ค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่ง ส่วนหนึ่งมาจากไม่ค่อยมีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย(ฟันด์โฟลว์) ในช่วงนี้ ขณะที่แนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทหลังการเลือกตั้งสหรัฐรอบนี้ จะขึ้นกับผลการเลือกตั้ง ว่า พรรคเดโมแครต หรือพรรครีพับลิกันจะชนะ

ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลังไปในรอบ 20 ปีที่มีการเลือกตั้งสหรัฐทั้งหมด 5 ครั้งพบว่าในปี 2559 ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้ง พบว่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงหลังจากนั้น แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2547 ที่พรรคเดโมแครตชนะ เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างไรก็ดี คงต้องขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น ๆ ด้วย

“ถ้าทรัมป์ได้ไปต่อ ผมคิดว่าเงินบาทจะยังแข็งค่าอยู่ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ หรือนโยบายการจัดการด้านสาธารณสุขในสหรัฐก็จะยังเหมือนเดิม ทำให้โอกาสที่ฟันด์โฟลว์จะไหลกลับไปสหรัฐมีต่ำ เรียกว่าเป็นโหมด risk on แต่หากนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตชนะ โอกาสที่เงินจะไหลกลับสหรัฐก็มีมากกว่า เพราะแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่คุยกันไว้ค่อนข้างใหญ่” นายนริศกล่าว

“นริศ” บอกว่า หากจะประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ คงต้องรอให้ผลการเลือกตั้งสรุปออกมาก่อน ซึ่งเดิม TMB Analytics มองค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมองว่าการเกินดุลของไทยในไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะลดลง เนื่องจากช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีเงินฝากจากต่างประเทศ และเงินจากการลงทุนในกองทุน FIF ไหลกลับเข้ามาในประเทศ

“ช่วงไตรมาส 4 โมเมนตัมเรื่องเงินไหลกลับเข้ามาในไทยไม่มีแล้ว เริ่มหมดแล้วโดยพื้นฐานคือ เงินจะไหลเข้าน้อยลง” นายนริศกล่าว

นอกจากค่าเงินแล้ว ในมุมของดอกเบี้ยพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ที่จะมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมากระหว่างของไทยกับสหรัฐ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี จากปัจจุบันที่ยีลด์ค่อนข้างทรงตัวอยู่แถว ๆ 1.34% ต่อปี ซึ่งนักลงทุนก็คงรอดูผลการเลือกตั้งออกมาก่อน

“ดอกเบี้ยไทยจะวิ่งตามดอกเบี้ยสหรัฐ ซึ่งหากพรรคเดโมแครตชนะ ทิศทางของยีลด์จะวิ่งขึ้นเพราะภาระทางการคลังจะมีมากขึ้น จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีการกู้มากขึ้น ดังนั้น ก็อาจจะทำให้ดอกเบี้ยไทยวิ่งตามได้แต่หากเป็นทรัมป์ได้ก็คงไม่ต่างไปจากปัจจุบัน” นายนริศกล่าว

อย่างไรก็ดี “นริศ” มองว่าคงไม่ได้มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยแต่อย่างใด โดยหากไทยจะใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะใช้การลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงอีกจะส่งผลได้มากกว่า

ขณะที่ “พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยมองว่า ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งค่าเงินดอลลาร์ก็มีทิศทางอ่อนค่าเช่นเดียวกัน เพราะทั้งคู่มีการกู้เงินมหาศาล

“กรณีไบเดน มีแนวโน้มจะอ่อนค่ามากกว่า เพราะมีการกู้ยืมที่ค่อนข้างสูง และไม่มีนโยบายกีดกันทางการค้า ทำให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) มีแนวโน้มแข็งค่าได้ ส่วนทรัมป์จะมีความผันผวนสูง และคนจะหันไปถือสกุลเงินดอลลาร์ อาจจะเห็นดอลลาร์แข็งค่าได้ และกรณีที่ทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จะยิ่งทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ไทยมีเรื่องประท้วง อาจเป็นเหตุให้คนเทขายเงินบาท กดดันบาทอ่อนค่าได้” นายพูนกล่าว

ด้าน “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า หลังวันเลือกตั้งเสร็จแล้วค่าเงินบาทในระยะสั้นน่าจะอ่อนค่าไปก่อน เนื่องจากอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างน้อย 1 สัปดาห์กว่าจะทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครจะเป็นผู้ชนะ

“ผมมองระยะสั้นเงินบาทจะอ่อนค่าไปก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ ไม่เกิน1 เดือน แต่คงไม่เกิน 31.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงดูแลไม่ให้เกินไปกว่านี้เพื่อเก็บกระสุนไว้เผื่อตอนที่สหรัฐมีการใช้นโยบายการคลังมาก ๆ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์เกิดอ่อนแรงจะได้รับมือได้” ดร.จิติพลกล่าว

ทั้งนี้ “ดร.จิติพล” ประเมินว่า แนวโน้มระยะยาวหากนายโจ ไบเดน ชนะเลือกตั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะมีทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำมาก และยังมีแนวโน้มอัดฉีดนโยบายการคลังเพิ่มขึ้นอีกมาก

“แนวโน้มจนถึงสิ้นปี ผมคิดว่าค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่ปีหน้าคิดว่าน่าจะเห็นค่าเงินบาทหลุดไปที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์เป็นเทรนด์แข็งค่า ซึ่งหากเราจะไม่ยอมให้บาทแข็งค่าขึ้น โดยเข้าแทรกแซงก็ต้องไปลุ้นว่าจะเจอมาตรการอะไรจากสหรัฐหรือเปล่า ทั้งนี้หากจะให้ดีเราต้องยิงนโยบายทางด้านการคลังสวนออกมา” ดร.จิติพลกล่าว

ทั้งหมดนี้ หน่วยงานกำกับดูแลโดยเฉพาะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ คงมีการเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ