ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังรายงานตัวเลขนำเข้าน้ำมันของจีนปรับเพิ่มขึ้น-ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเดือน ต.ค. 60 หลังจากรายงานตัวเลขการนำเข้าน้ำมันของจีนในเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีการนำเข้าเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 60 อยู่ที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสามารถนับได้ว่าจีนมีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยการปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าน้ำมันเพื่อเป็นน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจีนได้ทะยอยเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2558 จนตอนนี้มีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์อยู่ที่ 850 ล้านบาร์เรล

+ ประกอบกับหลังจากนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ไม่มีการรับรองว่าอิหร่านได้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ได้เคยทำสัญญาไว้ในปี 2558 โดยมีการะบุว่าอิหร่านได้ละเมิดข้อตกลงอยู่หลายครั้ง และนายทรัมป์ให้เวลากับสภาคองเกรส 60 วันเพื่อที่จะตัดสินใจว่าจะมีการแทรงแซงอิหร่านอีกครั้งหรือไม่

+ ถึงแม้ว่าราคายังมีสัญญาณในทางขาขึ้น แต่นักวิเคราะห์ยังคงมองว่าโอเปกควรจะยืดระยะเวลาในการลดกำลังการผลิตออกไป ซึ่งปัจจุบันนี้มีการลดกำลังการผลิตถึงเดือน มี.ค. 61 เพื่อที่จะสามารถลดปริมาณน้ำมันคงคลังลงได้

+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นจุดเจาะในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 13 ต.ค. 60 ปรับลดลง 5 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน และมีจำนวนแท่นทั้งหมด 743 แท่น โดยเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.49 ล้านบาร์เรลซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับมีอุปทานจากจีนเพิ่มมากขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์จากเวียดนาม และตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดีเซลจากภูมิภาคเอเชียไปยังยุโรปยังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 49 – 54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่ โดยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา

จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก ลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลใหกับหลายประเทศว่าปัญหาดังกล่าวจะอาจจะเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิเช่น ตุรกีขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น