‘กรุงศรี’โหมสกัดหนี้เสียขาขึ้น รูดปรื๊ดหด11% ปีหน้ายังโตต่ำ

“กรุงศรี คอนซูมเมอร์” สกัดเอ็นพีแอลเต็มที่ เข้มปล่อยกู้พีโลน ขยับเกณฑ์รายได้เพิ่มเป็น 1.2 หมื่นบาท/เดือน-ขึง DSR ที่ 70% ตัดรายได้ที่ไม่แน่นอน ทั้ง “ค่าคอมมิสชั่น-โอที-โบนัส” ออก ไม่นำมาคำนวณเป็นรายได้รวม ฉุด “approval rate” ภาพรวมวูบ 5% เหลือ 40% พร้อมเร่งเครื่อง “จัดทีม-ระบบ” ตามหนี้-ปรับโครงสร้าง เตรียมพร้อมรับมือ “พายุหนี้เสีย” เร่งตัวขึ้นช่วงต้นปี’64 เร่งทำแผนธุรกิจชงบอร์ด คาดปีหน้าภาพรวมตลาด “บัตรเครดิต-พีโลน” ยังเหนื่อยส่อโตไม่ถึง 8% จากปีนี้ที่คาดโตติดลบ 11%

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น บริษัทจึงได้มีการปรับเกณฑ์รายได้การพิจารณาสินเชื่อส่วนบุคคลของลูกค้าจาก 1 หมื่นบาทต่อเดือน เป็น 1.2 หมื่นบาทต่อราย

รวมถึงกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) อยู่ที่ 70% นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เป็นต้นมา ส่วนบัตรเครดิตยังคงเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งส่งผลให้อัตราการอนุมัติ (approval rate) โดยรวมเฉลี่ยลดลงจาก 45% มาอยู่ 40%

อย่างไรก็ดี แม้จะปรับเกณฑ์แต่ยังพบว่า ในกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบุคคล approval rate ยังใกล้เคียงเดิมที่ระดับ 20% เนื่องจากลูกค้าที่ผ่านการคัดกรองมาจากฝ่ายขาย พบว่า ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยระดับ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

“การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำและการคำนวณรายได้รวม เราได้ตัดรายได้ที่ไม่แน่นอนออก เช่น ค่าคอมมิสชั่น ค่าโอที และโบนัส ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม หรือสายการบิน ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งหมดนี้ ก่อนหน้านี้เป็นลูกค้าเกรดเอของบริษัทมาก่อน แต่ในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อก็อยากทำให้ลูกค้ากลับมายืนได้ บริษัทจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งที่มีภาระหนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ที่มีภาระหลายอย่างอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถก่อหนี้ก้อนใหม่ได้ เพราะเรามองว่าสถานการณ์หนี้ยังมีปัญหาอยู่ บริษัทจึงต้องการช่วยยืดหนี้ไปก่อน” นางสาวณญาณีกล่าว

โดยแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบริษัทคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จึงคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6 เดือน หรือประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.ปี 2564 จึงจะเห็นภาพการไหลของหนี้เสีย ที่เอ็นพีแอลน่าจะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาส 1 ปีหน้า โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลของบริษัทอยู่ที่ 2.25% และคาดว่าภายในสิ้นปีจะขยับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2.5%

ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาผ่อนชำระหนี้ได้เป็นปกติ โดยจัดทีมติดตามลูกหนี้ (collection) และทีมงานปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) เพิ่มอีก 40 คน
จากเดิมที่มีอยู่ 300 คน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าโดยเฉพาะมากขึ้น พร้อมเพิ่มวิธีการติดต่อลูกค้าผ่าน SMS หรือ “deep link”

“พอลูกค้าได้รับข้อความแล้ว สามารถกดเข้าไปที่ลิงก์ที่จะส่งไปยังหน้าเว็บไซต์ที่บริษัทจะเสนอแพ็กเกจการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายบุคคล (personalize) เนื่องจากลูกหนี้แต่ละรายมีหนี้และความสามารถไม่เท่ากัน จึงเสนอโปรแกรมการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย และได้เริ่มทดลองใช้ระบบดังกล่าวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยส่งข้อความไปยังลูกค้าแล้วกว่า 1 หมื่นราย” นางสาวณญาณีกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) โดยการลดดอกเบี้ย และปรับยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้ยาวถึง 96 เดือน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในระบบ จากปกติที่กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เพียง 48 เดือน ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี บริษัทเริ่มทำ TDR มาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้าร่วมแล้วกว่า 3.2 หมื่นบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ราว 2,500 ล้านบาท

นางสาวณญาณีกล่าวด้วยว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจระยะกลาง 3 ปี (2564-2466) คาดว่าภายในเดือน พ.ย.นี้ จะสามารถสรุปแผนและเสนอคณะกรรมการบริษัทได้

สำหรับในปี 2564 กรุงศรีฯตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตและพีโลนเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว จากปกติที่จะขยายตัวปีละ 2 หลัก ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับภาพรวมตลาดที่คาดว่าในปีหน้า ธุรกิจบัตรเครดิตและพีโลนจะยังชะลอตัว จากปกติที่จะโตเฉลี่ยปีละ 8% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้ารายใหม่เข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น เนื่องจากรายได้ที่ลดลง และผู้ให้บริการสินเชื่อก็ต้องปล่อยอย่างระมัดระวังขึ้น

“ธุรกิจบัตรปี 2563 นี้เติบโตติดลบประมาณ 11% แต่แนวโน้มปีหน้าบริษัทวางแผนว่าจะเห็นการเติบโต เพราะเห็นภาพไตรมาส 3 ของปีนี้ที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แม้ว่าในช่วงต่อเนื่องกับไตรมาส 4 จะกลับมาซึมลง จากปัจจัยรายได้ของลูกค้าที่ลดลง ขณะเดียวกันลูกค้าที่มีกำลัง ก็กดเงินสดหรือใช้จ่ายน้อยลง เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (สเปนดิ้ง) และยอดสินเชื่อลดลง” นางสาวณญาณีกล่าว