ก.ล.ต.เร่งแก้กม.ทางแพ่ง”ใช้คำสั่งศาล”เรียกเงินนักปั่นหุ้นคืน

ก.ล.ต.ศึกษาหาช่องเสริมเขี้ยว “ใช้คำสั่งศาล” เรียกคืนเงิน “นักปั่นหุ้น-บิ๊ก บจ.” ทำผิด กม.หลักทรัพย์ จ่อแก้ไขลงโทษทางแพ่งเติมใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯฉบับใหม่ เผยสถิติ 10 เดือน จัดหนัก 8 คดี คนทำผิด 21 ราย ปรับ-ชดใช้เงินรวม 50 ล้านบาท

นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมายใหม่เพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งสำหรับผู้กระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ในกรณีความผิดร้ายแรง เช่น การทุจริต การระดมทุนหรือประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น เหตุเพราะการกระทำความผิดเหล่านี้ตามกฎหมายเดิมต้องดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งจำเป็นต้องพิสูจน์ความผิดได้ถึงจะนำมาสู่ขั้นตอนลงโทษตามกฎหมาย

สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์

“การเอาผิดโทษร้ายแรงตามกฎหมายเดิม ต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลหลักฐานให้รอบคอบ และมัดตัวผู้กระทำผิดได้ ส่วนนี้ ก.ล.ต.จึงเล็งเห็นว่าก่อให้เกิดช่องว่างในการกระทำผิดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้กระทำผิดอาจมองว่าการกล่าวโทษคดีทางอาญาจำเป็นต้องตรวจสอบเอาผิดอย่างรอบคอบ และใช้เวลานาน หากไม่มีหลักฐานมัดตัวจริงก็ไม่สามารถเอาผิดได้ ตอนนี้ ก.ล.ต.จึงอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายใหม่เพื่อดำเนินการเอาผิดโทษทางแพ่ง ควบคู่ไปกับโทษทางอาญา”

สำหรับแนวทางในการเสนอแก้กฎหมายดังกล่าว จะเรียกร้องให้ศาลเพิ่มอำนาจตัดสินเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยจากการทุจริต พร้อมทั้งนำเงินจากการกระทำผิดทั้งหมดคืนให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดในครั้งนั้น รวมถึงยังคงให้คดีอาญาไม่ระงับผลทางคดีอีกด้วย ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมดังกล่าวจะจัดอยู่ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับแก้ไขใหม่ โดยอาจจัดเป็นฉบับที่ 7-8

“การแก้ไขเพิ่มเติมนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการทุจริตในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการกระทำผิดในปัจจุบันไม่ใช่แค่ลักษณะการปั่นหุ้น แต่มีการกระทำผิดที่ซับซ้อนและตรวจสอบยากมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น ผู้บริหารว่าจ้างคนกลุ่มหนึ่งมาซื้อขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แล้วยอมขาดทุนเพื่อปั่นหุ้น โดยใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นที่ฟอกเงิน”

นายสมชายยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของกฎหมายหลักทรัพย์ด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ปัจุบัน ก.ล.ต.บังคับใช้โทษแก่ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรณีใช้ข้อมูลภายในนำไปเปิดเผยต่อประชาชน และความผิดเกี่ยวกับการขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ดำเนินการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิดทางกฎหมายหลักทรัพย์ แล้วจำนวน 8 คดี โดยมีผู้กระทำผิด 21 ราย ซึ่งความผิดที่ดำเนินการ ได้แก่ อินไซเดอร์ และความผิดเกี่ยวกับการขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยเป็นเงินค่าปรับทางแพ่งจำนวนกว่า 31 ล้านบาท และให้ชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับจำนวน 19.6 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ก.ล.ต.นำส่งให้กระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวนกว่า 50 ล้านบาท