รมว.คลังสั่งสรรพสามิต ปรับโครงสร้างภาษีหนุน “รถยนต์ไฟฟ้า-เครื่องใช้ไฟฟ้า”

ภาพ : pixabay

รมว.คลัง มอบนโยบายกรมสรรพสามิต ปฏิรูปจัดเก็บภาษี คาดเป้าจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 64 ต่ำกว่าประมาณการแต่คงไม่มาก สั่งหาช่องทาง “ลดภาษีรถยนต์ไฮบริด” จูงใจประชาชน-นักลงทุน จับมือกระทรวงสาธารณสุข “เก็บภาษีความเค็ม” หวังส่งเสริมสุขภาพ “อธิบดีสรรพสามิต” แย้ม ต.ค. เป้าจัดเก็บรายได้เกิน 4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (13 พ.ย. 2563) ได้มอบนโยบายกรมสรรพสามิต ในเรื่องการจัดเก็บรายได้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ช่วงไตรมาส 1 ถือว่ายังอยู่ในประมาณการ แต่ประเมินเป้าการจัดเก็บรายได้ของสรรพสามิตอาจจะต่ำกว่าประมาณการแต่คงไม่มาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าจะต่อเนื่องไตรมาส 1-2 ปีหน้า จากตัวเลขจีดีพีและการใช้จ่ายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ซึ่งจะมีระบบส่งผ่านข้อมูลมาที่สรรพสามิต โดยไม่มีการรั่วไหล ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความแม่นยำมากขึ้น

ส่วนต่อมาคือ แผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้การจัดเก็บในอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งต้องดูหลายส่วนคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมฯ โดยกรมสรรพสามิตได้มีการหารือเรื่องภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ปรับลดอัตราภาษีลงมา อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และให้ความมั่นใจกับนักลงทุน จะพิจารณาต่อเรื่องขององค์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมที่จะสามารถทำได้

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ทั้งนี้ทั้งนี้รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% (Full-EV) ยังต้องมีสถานีชาร์จ ส่วนรถยนต์ที่ยังไม่ใช้ไฟฟ้า 100% (มีระบบแบตเตอรี่) ก็อาจะต้องเข้าไปดูว่ามีองค์ประกอบอะไรที่สรรพสามิตจะปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดประโยชน์กับนักลงทุน และอุตสาหกรรม และเพื่อให้ราคาจูงใจสำหรับการใช้ของประชาชน

“ขณะนี้รถส่วนใหญ่ยังเป็นรถที่ใช้น้ำมันและไฮบริด ส่วนการก้าวไปสู่รถ EV ต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ อาจจะค่อย ๆ เป็นไปแต่ละสเต็ป” นายอาคมกล่าว

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า วัตถุประสงค์นโยบายของทางรัฐบาลก็มุ่งเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร ดังนั้นนโยบายภาษีเป็นเรื่องหนึ่งที่จะช่วยในการลดภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม โดยให้กรมสรรพสามิตไปศึกษาไปตั้งเกณฑ์การลดใช้พลังงาน โดยสินค้าประเภทใดที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ถ้าทำได้ถึงมาตรฐานขั้นสูงก็อาจจะลดภาษีให้อยู่ แต่ถ้าสินค้าเหล่านั้นไม่ถึงเกณฑ์ก็อาจจะต้องจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ทั้งนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษา

ส่วนต่อมาคือ การสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เนื่องจากโรคที่คนไทยเป็นกันมาก ส่วนหนึ่งคือโรคเบาหวาน ซึ่งได้เริ่มทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขเรื่องมาตรการทางภาษี โดยเฉพาะภาษีความหวานของเครื่องดื่ม และได้เพิ่มเติมภาษีความเค็ม เพราะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะไตวาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการให้มาตรการหรือกลไกทางภาษีเกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพ

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เห็นตัวเลขการจัดเก็บรายได้ในเดือน ต.ค. 2563 ถือว่าทำได้เกินกว่าที่ตั้งไว้ หรือเกิน 40,000 ล้านบาท ส่วนทั้งนี้เป้าจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งพยายามจะใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ เพราะภาษีสรรพสามิตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการบริโภค ดังนั้นมาตรการของรัฐบาลหลายๆ เรื่องมีส่วนกระตุ้นการบริโภค การเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งจะโยงมาสู่ภาษีสรรพสามิตหลายๆ ตัว เช่น เครื่องดื่ม, สุรา, การใช้น้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการจัดเก็บภาษีของกรมฯ

“เป้าจัดเก็บรายได้จริงที่ตั้งไว้ก็ใกล้เคียงกับเอกสารงบประมาณ เพราะเราเชื่อว่ากรมฯ ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี โดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษี หรือไม่จำเป็นต้องเก็บอัตราภาษีประเภทใหม่ ซึ่งก็เป็นความท้าทายหนึ่งของกรมฯ ซึ่ง 1 เดือนที่ผ่านมาจัดเก็บรายได้ก็ยังบวก” นายลวรณกล่าว