ธุรกิจแย่ ฉุดรายได้รัฐทรุด คลังแบะท่ากู้ทะลุเงินชดเชยขาดดุล 2 ปีซ้อน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง เดินสายมอบนโยบายแก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยไฮไลต์สำคัญอยู่ที่กรมจัดเก็บรายได้ อย่างกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต เนื่องจากเป็นกรมจัดเก็บรายได้หลักของประเทศไทย ทว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) ที่ผ่านมา ผลการจัดเก็บรายได้ออกมาต่ำอย่างมาก ภาพรวม 3 กรมภาษีจัดเก็บได้ประมาณ 2.47 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่จัดเก็บได้ 2.7 ล้านล้านบาท

โดยกรมสรรพากรเก็บรายได้ได้เพียง 1.83 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าปีงบประมาณ 2562 ที่เก็บได้ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ต่างก็เก็บรายได้ลดลงกว่าปีก่อนเช่นเดียวกัน มีเพียงรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าเป้าหมาย

การเก็บรายได้ที่ลดลงไปมากในปีงบประมาณ 2563 จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องมีการขยับกู้เงินเพิ่มอีก 2.14 แสนล้านบาท ผ่านการกู้เงินที่เรียกว่า “กู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้” (revenue shortfall) ซึ่งเป็นการกู้เงินในวงเงินที่มากกว่าวงเงินขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ในกฎหมายงบประมาณประจำปีนั่นเอง

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-ก.ย. 64) ก็มีแนวโน้มไม่ต่างกัน แถมหลายฝ่ายยังกังวลว่าสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของประเทศจะยากลำบากกว่าปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป

ด้วยเหตุว่า ผลประกอบการของภาคธุรกิจ รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผล
กระทบในช่วงครึ่งแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 63) จะสะท้อนผ่านการจ่ายภาษีและรายได้นำส่งคลัง (กรณีรัฐวิสาหกิจ) ในช่วงปีงบประมาณ 2564 ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากผลกระทบจากไวรัสโควิดยังคงมีอยู่ ดังนั้น แนวทางการปรับขึ้นภาษี คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากในปีงบประมาณนี้

โดย “นายอาคม” ยอมรับว่า ปี 2564 จะค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะผู้เสียภาษีซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ขาดรายได้ในปี 2563 แล้วจะต้องไปจ่ายภาษีในปี 2564 จึงจะกระทบกับรายได้ของกรมสรรพากร แต่ขณะนี้จะยังคงเป้าหมายจัดเก็บไว้ที่ 2.08 ล้านล้านบาทก่อน

ขณะที่กรมสรรพสามิต แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกจะยังเก็บรายได้ได้ตามประมาณการ แต่ก็คาดว่าทั้งปีอาจจะเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ แต่อาจจะไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องไตรมาส 1-2 ปี 2564

“นายอาคม” บอกว่า กระทรวงการคลังจะต้องปรับโครงสร้างภาษี เพื่อพยุงอุตสาหกรรม ทำให้โครงสร้างภาษีมีความสมดุล ซึ่งได้สั่งการให้กรมสรรพากรพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างภาษี เตรียมไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดแล้ว โดยร่วมมือกับกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เพื่อให้โครงสร้างภาษีเอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ยังให้กรมสรรพากรศึกษาเรื่องการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% และดำเนินการขยายฐานภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

ขณะที่กรมสรรพสามิตก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ และทำแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้การจัดเก็บในอนาคตที่ยั่งยืน และ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม อาทิ อุตฯยานยนต์ ที่มุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตฯเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงศึกษาเก็บภาษีสินค้าที่กระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่น ภาษีความเค็ม เป็นต้น

ทั้งนี้ รมว.คลังยอมรับว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมพร้อมการ “กู้ชดเชยขาดดุลกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้” เหมือนกับปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา

“เราจะมีการติดตามตัวเลขการจัดเก็บรายได้ก่อน โดยจะมีการพิจารณาเป็นรายไตรมาส แล้วจะสรุปอีกครั้งในช่วงกลางปี 2564” นายอาคมกล่าว

คงต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ได้ดีเพียงใด เพราะหากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ภาคธุรกิจโดยรวมยังไม่ดีขึ้น ก็จะส่งผลกระทบกับการเก็บรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2564 นี้มากขึ้นอย่างแน่นอน

ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า กรอบวงเงินกู้ชดเชยขาดดุล และกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ที่เหลือให้กู้ได้อีกราว 1 แสนล้านบาทเศษนั้น จะเพียงพอรับมือได้หรือไม่ ซึ่งหากเกินไปกว่านี้ รัฐบาลก็อาจจะต้องออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินอีกรอบ