คุมค่าฟีดึงข้อมูลยืนยันตัวตน ‘กรุงศรี’ เริ่มปล่อยกู้ผ่านแอป

โมบาย-ยืนยันตัวตน
ภาพ : Pixabay

“ธปท.-NDID” ตีกรอบคิดค่าฟีดึงข้อมูลระหว่างแบงก์เพื่อยืนยันตัวตน ขั้นต่ำ 100 บาท/รายการ สูงสุดไม่เกิน 200 บาท ขณะที่ NDID เตรียมแยกตั้งบริษัทใหม่อีกแห่งเป็นตัวกลางทำธุรกรรมโดยเฉพาะ “กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์” เตรียมทดลองปล่อยกู้ออนไลน์ผ่านแอป UCHOOSE ตั้งเป้ายอดสมัคร 3,000 รายต่อเดือน

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาชิกบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี (NDID) ได้มีการกำหนดเพดานการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้บริการเชื่อมข้อมูลดิจิทัลผ่านระบบไว้ไม่เกิน 200 บาทต่อรายการ และอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 100 บาทต่อรายการ โดยปัจจุบันยังไม่มีธุรกรรมเกิดขึ้น เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการทดสอบในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (regulatory sandbox) ของ ธปท.

“ธปท.รวบรวมข้อเสนอแนะจากสมาชิกไปแล้ว เบื้องต้นยังไม่ได้เคาะอัตราที่ตายตัว เพราะยังไม่ได้ใช้ตอนนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ลูกค้าไปพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่านธนาคารที่ตัวเองต้องการ หรือเรียกว่า IDP (identity provider) ที่ตอนนี้มี 5 ธนาคารให้บริการ แต่เชื่อว่าราคาที่ผู้ที่ขอให้มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือ RP น่าจะคิดเต็มเพดาน 200 บาท เพราะแบงก์ที่มีฐานข้อมูลลูกค้ามาก ก็น่าจะเรียกเก็บเต็มเพดาน ไม่อย่างนั้นจะเสียเปรียบจากการที่มีฐานลูกค้ามาก” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทาง NDID จะมีการตั้งบริษัทขึ้นมาอีก 1 บริษัท เพื่อให้มาทำหน้าที่ตัวกลางในการทำธุรกรรมเชื่อมและส่งข้อมูลยืนยันตัวตนโดยเฉพาะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ซึ่งให้สมาชิกถือหุ้น และกำกับดูแลโดย ธปท.

นางสุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานกรรมการ NDID กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการขอข้อมูลยืนยันตัวตนจาก IDP จะดูตามความเสี่ยงของธุรกรรมการยืนยันตัวตน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับตามที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กำหนด

ปัจจุบันมีธนาคารผู้ให้บริการเป็น IDP จำนวน 5 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) และมีสมาชิกในภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมทดสอบเพิ่มใน sandbox เป็น 17 ราย ซึ่งเป็นภาคตลาดทุน และภาคการประกันภัยที่สามารถใช้บริการยืนยันตัวตนได้จาก 5 ธนาคารข้างต้น

“ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ มีผู้เปิดบัญชี โดยทำ e-KYC แล้วกว่า 1 ล้านบัญชี มีประมาณ 60-70% ที่สามารถทำธุรกรรมสำเร็จ ที่เหลืออาจจะมีปัญหาเรื่องระบบการเชื่อมโยง แต่คาดว่ายอดลงทะเบียนยืนยันตัวตนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบ NDID เป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการยืนยันตัวตนสามารถใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานนี้ได้” นางสุธีรากล่าว

นายอธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส กล่าวว่า เข้าใจว่าอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการข้อมูลยืนยันตัวตนอยู่ระหว่างพิจารณา แต่มีการกำหนดเพดานการเรียกเก็บจะต้องไม่เกิน 200 บาทต่อรายการ

ซึ่งธนาคารผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บต่ำกว่าได้ แต่จะต้องไม่เกินกรอบดังกล่าว เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้เกิดกลไกการแข่งขัน เพราะต้นทุนของแต่ละธนาคาร รวมถึงวิธีการเก็บข้อมูลในแต่ละแห่งจะต่างกัน ทำให้การตั้งราคาเรียกเก็บสามารถกำหนดได้ตามต้นทุนที่แท้จริง

“บริษัทจะทดลองเปิดสมัครสินเชื่อออนไลน์ (digital lending) ผ่าน NDID บนแอปพลิเคชั่น UCHOOSE โดยเป้าหมายการทดสอบคาดว่าจะมียอดสมัครอยู่ที่ 2,000-3,000 รายต่อเดือน โดยในช่วงแรกของการทดสอบปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ความรู้ลูกค้าในเรื่องของการยืนยันตัวตน การทดสอบความเสถียรของระบบ และผลตอบรับของกลุ่มลูกค้าที่ใช้ดิจิทัลก่อนขยายไปสู่วงกว้างต่อไป” นายอธิปกล่าว