ธุรกิจบัตรเครดิตเขย่าพอร์ต ปิดบ/ช “นิ่ง” ชิงลูกค้าคุณภาพ

ภาพ Pixabay

ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้เอฟเฟ็กต์คุมบัตรเครดิต-พีโลน “แบงก์-น็อนแบงก์” แห่ปิดบัญชีลูกค้า “ไม่แอ็กทีฟ” เปิดช่องดึงลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าพอร์ต ชี้อาจฉุดจำนวนบัญชี-ยอดสินเชื่อโตต่ำ “เคทีซี” เร่งปรับกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าเงินเดือนเกิน 3 หมื่นบาท-ตัดทิ้งบัญชีนิ่ง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมากำกับดูแลบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล (พีโลน) น่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเร่งปิดบัญชีของลูกค้าสินเชื่อที่ไม่มีความเคลื่อนไหว (ไม่ active) เพื่อให้มีช่องว่างในการรับลูกค้าใหม่ ๆ เข้าพอร์ตมากขึ้น

ขณะเดียวกันผู้ขอสินเชื่อที่มีตัวเลือกในการขอสินเชื่อน้อยลง โดยเฉพาะพีโลน เพราะถ้าเงินเดือนต่ำกว่า 3 หมื่นบาท จะกู้ได้แค่ 1.5 เท่าของเงินเดือน และจำกัดไม่เกิน 3 สถาบันการเงิน ดังนั้น จึงอาจเลือกปิดบัญชีที่ใดที่หนึ่ง แล้วไปหาแบงก์ที่ดีที่สุดแทน

“ระยะข้างหน้า การแข่งขันของแบงก์และน็อนแบงก์อาจจะมากขึ้น โดยออกแคมเปญเพื่อดึงดูดกลุ่มที่มีเงินเดือน 3 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ไม่ถูกจำกัดการให้วงเงินสินเชื่อ และในอนาคตก็อาจเห็นอัตราการขยายตัวของบัญชีบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดลดลง ส่วนปีนี้ประเมินว่าสินเชื่อส่วนบุคคลจะเติบโตได้แค่ 1% เท่านั้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 7%”

นายปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ช่องทางการจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า บมจ.บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี กล่าวว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เคทีซีได้มีนโยบายให้ขยายฐานลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ ธปท. ซึ่งก็คือกลุ่มที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท เพื่อลดผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าของบริษัทกว่า 80% เป็นกลุ่มที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ส่วนพีโลนก็ต้องยกระดับเทียบเท่ากับกลุ่มบัตรเครดิต จากเดิมที่กำหนดผู้ขอสินเชื่อพีโลนต้องมีเงินเดือนตั้งแต่ 1.2 หมื่นบาทขึ้นไป

“ผลกระทบมีบ้าง แต่ก็เป็นระยะสั้น ๆ เช่น ยอดเปิดบัญชีสำหรับลูกค้าใหม่ (new booking) อาจลดลงบ้าง แล้วก็ต้องเลือกปิดบัญชีลูกค้าที่ไม่แอ็กทีฟมากขึ้น เพราะเป้าหมายของเราคือ เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ซึ่งก่อนตัดลูกค้าออกจากระบบ เราจะทำการตลาดกระตุ้นให้ลูกค้าใช้ก่อนเป็นเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ลูกค้าจะเลือกแบงก์มากขึ้น แต่เราเชื่อว่า เคทีซีจะเป็น 3 อันดับแรกที่ลูกค้าเลือก”

และว่า ในปี’60 นี้ เคทีซียังตั้งเป้าฐานลูกค้าใหม่ไว้เท่าเดิม คือ บัตรเครดิต 4 แสนบัญชี ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้วกว่า 2 แสนบัญชี และพีโลนตั้งเป้า 1.6 แสนบัญชี ทำได้แล้วราว 1.2 แสนบัญชี

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า คาดว่าธนาคารจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะกลุ่มลูกค้าที่มีส่วนใหญ่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือนอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 60-70% ของฐานลูกค้าทั้งหมดเกือบ 2 แสนบัญชี ซึ่งแบงก์ยังขยายฐานกลุ่มนี้ต่อเนื่อง