“ประธานาธิบดี ทรัมป์” แสวงหา ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2560 นี้ นอกจากนักลงทุนจะติดตามการนำเสนอแผนปฏิรูปภาษีของรัฐบาลทรัมป์อย่างใกล้ชิดแล้ว ข่าวที่มีผลต่อตลาดทุนในปลายสัปดาห์คือ การรายงานข่าวจาก Wall Street Journal (WSJ) ว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้เริ่มสัมภาษณ์ ผู้ที่อยู่ในข่ายที่เขาจะนำเสนอต่อวุฒิสภาให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางคนต่อไป หลังจาก นาง Janet Yellen ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

อันที่จริงแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐ มักจะต่ออายุให้กับผู้ว่าการธนาคารกลางคนเดิม เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของการไม่ดึงให้ “ผู้ว่าการธนาคารกลาง” เข้าไปฝักใฝ่ทางการเมือง ทั้งนี้ประธานาธิบดีทุกคนตั้งแต่ประธานาธิบดีเรแกน ในปี 1981 ได้ต่ออายุตำแหน่งให้กับผู้ว่าการธนาคารกลางในขณะนั้น และหาก นางเจเนต เยลเลน (Janet Yellen) ไม่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางต่ออีก 1 สมัย นาง Janet Yellen ก็จะเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางเพียง 3 คนในรอบ 84 ปี ที่เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางเพียง 1 สมัย เพราะประธานาธิบดีสหรัฐไม่ต่ออายุให้

โอกาสที่ นางเยลเลน จะไม่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อต่ออายุการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง ดูเหมือนว่าจะมีความเป็นไปได้สูงมาก หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่าเขาทำการสัมภาษณ์ผู้ที่เขาอาจเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการธนาคาร 4 ครั้ง ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน (โดยไม่ยอมบอกว่าสัมภาษณ์กี่คน) ทั้งนี้ WSJ รายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ร่วมกับ นาย Steve Mnuchin สัมภาษณ์ กรรมการธนาคารกลางคนหนึ่ง คือ นาย Jerome Powell และอดีตกรรมการธนาคารกลางอีกคนหนึ่งคือ นาย Kevin Walsh และอาจมีผู้อื่นที่อยู่ในข่ายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จะพิจารณาอีก 3-4 คน เช่น นักเศรษฐศาสตร์ John Taylor (มหาวิทยาลัย Stanford) นาย John Allison (อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร BB&T) และรวมทั้งนาง Janet Yellen และประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ทรัมป์ คนปัจจุบัน คือ นาย Gary Cohn (อดีตผู้บริหารของ Goldman Sachs)

กรณีของ นาง Yellen กับ นาย Cohn นั้น น่าจะมีโอกาสน้อยมาก โดยในกรณีของนาง Yellen นั้น แม้ว่าทรัมป์อาจจะพอใจที่ นาง Yellen ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และขับเคลื่อนให้ตลาดทุนขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นาง Yellen เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมสถาบันการเงินอย่างเคร่งครัดหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ (ที่เป็นผลจากความหละหลวมในการควบคุมสถาบันการเงิน) แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการผู้ว่าการธนาคารกลางที่จะผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าว ในส่วนของนาย Gary Cohn นั้น เดิมทีมีภาษีดีมาก แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่พอใจอย่างมาก เมื่อนาย Cohn กล่าวตำหนิการตอบโต้กับสื่อมวลชนของเขาในช่วงที่เกิดการเดินขบวนและปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตในนคร Charlottesville มลรัฐ Virginia

รายงานข่าวของ WSJ ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐในระดับภูมิภาคทั้งสองคนคือ นาย Jerome Powell และนาย Kevin Walsh (โดยประธานาธิบดีทรัมป์สัมภาษณ์ นาย Powell เมื่อวันที่ 27 กันยายน และนาย Walsh ในวันต่อมา)

นาย Powell นั้นเป็นกรรมการธนาคารกลางตั้งแต่ปี 2012 โดยก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้บริหารกองทุนส่วนบุคคล Carlyle Group โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวาณิชธนกิจ และนักกฎหมาย นอกจากนั้น นาย Powell ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ฝ่ายการเงินภายในปี 1990-1993 นาย Powell สนับสนุนแนวนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของนาง Yellen มาโดยต่อเนื่อง และนอกจากนั้น ก็ยังได้เสนอให้ลดทอนกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดบางประการ ซึ่งนำมาใช้กับสถาบันการเงินหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ดังนั้น แนวคิดของนาย Powell จึงใกล้เคียงกับแนวนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ค่อนข้างมาก

แต่ นาย Kevin Walsh ก็ “มาแรง” เช่นกัน โดยเมื่อตลาดทุนรับรู้ข้อมูลว่า นาย Walsh น่าจะเป็นตัวเต็งก็ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน ทั้งนี้ นาย Walsh เคยเป็นกรรมการธนาคารกลางในช่วง 2006-2011 จึงมีประสบการณ์ ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว และนอกจากนั้นก็ยังเคยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับอดีตประธานาธิบดี George W. Bush (ปี 2002-2006) และถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีทรัมป์ให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาของ Strategic and Policy Forum (ซึ่งถูกยุบลงไปแล้ว) แต่ที่สำคัญคือ นาย Walsh แต่งงานกับนาง Jane Lauder หลานสาวของเจ้าพ่อผลิตภัณฑ์เสริมสวย Este”e Lauder และบิดาของนาง Jane Lauder คือ นาย Ronald Lauder นั้นสนิทสนม กับประธานาธิบดีทรัมป์มานานหลายสิบปี และมีข่าวว่า นาย Ronald Lauder กำลังล็อบบี้อย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกเขยของตนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไป

นอกจากการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ ซึ่งจะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินของสหรัฐ ในช่วง 4 ปีข้างหน้าแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ยังจะยังต้องแต่งตั้งกรรมการธนาคารกลาง (Member of the Board of Governor) อีกถึง 4 คน จากทั้งหมด 7 คน (หากรวม ประธานกรรมการหรือผู้ว่าการธนาคารกลาง แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องแต่งตั้งกรรมการทั้งหมด 5 คน) ที่สำคัญคือ กรรมการธนาคารกลางทั้ง 7 คน มีอำนาจถาวรในการลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในนโยบายการเงินต่าง ๆ รวมกับ

ผู้ลงคะแนนเสียงอีก 5 คนที่หมุนเวียนกันมาออกเสียงจากผู้ว่าการธนาคารกลางระดับภูมิภาคอีก 12 คน กล่าวคือประธานาธิบดีทรัมป์จะสามารถกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐได้อย่างที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนอื่น ๆ ทำไม่ได้ เพราะตำแหน่งกรรมการธนาคารกลางนั้น มีวาระยาวนานถึง 14 ปี และแม้นาง Yellen จะยังสามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการธนาคารกลางต่อไปได้อีกหลังลงจากตำแหน่งผู้ว่าการ (หรือประธานกรรมการ) แล้ว แต่เป็นที่ทราบกันว่า นาง Yellen จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ หากไม่ได้รับการต่ออายุให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐต่อไปอีกวาระหนึ่ง

ดังนั้น ประเด็นการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ จะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั้งในระยะสั้น และรวมทั้งปีหน้า เพราะนักลงทุนจะประเมินว่าบุคคลที่ทรัมป์จะแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นนั้น จะมีแนวคิดต่างหรือเหมือนกับปัจจุบันหรือไม่