เงินบาททรงตัว หลัง ธปท.ออกมาตรการดูแลค่าเงิน

เงินบาท-ดอกเบี้ย

ค่าเงินบาททรงตัว หลัง ธปท.ออกมาตรการดูแลค่าเงิน เผยช่วง 1-19 พ.ย. มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรรวมกันเกือบ 7 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 17 เดือน ส่งผลเงินบาทแข็งโป๊กสุดในรอบ 10 เดือน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/11) ที่ระดับ 30.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ  30.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการดูแลค่าเงิน

โดยเน้นเป้าหมายในการสร้างสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายขาเข้า-ขาออก เพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่ในฝั่งของเงินดอลลาร์เองยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ตามสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

ทั้งนี้ในช่วงระหว่างวันที่ 1-19 พฤศจิกายน 2563 เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรรวมกันเป็นจำนวน 6.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 10 เดือน ที่ระดับ 30.14 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 30.30 บาท/ดอลลาร์

โดยในปัจจุบันสถานการณ์ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่ากังวล เพราะการแข็งค่าของเงินบาทในเวลานี้อาจกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ดังนั้น ธปท.จึงออกมาตรการดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างกลไกในระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งแบ่งมาตรการออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่

1.การคลายเกณฑ์สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) สำหรับคนไทย

2. การขยายวงเงินและประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้

และ 3.การกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อ-ขายตราสารนี้ (Bond Pre-trade Registration) ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน ซึ่งเปิดรับเงินทุนเคลื่อนย้าย และนักลงทุนสามารถซื้อ-ขายตราสารหนี้ได้อย่างเสรี แต่ต้องมีการระบุตัวตนที่ชัดเจน

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินทุนขายออก และช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจากมาตรการดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลาในการติดตามประสิทธิผล โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย เนื่องจากการกระจายพอร์ตการลงทุนยังขึ้นอยู่กับจังหวะและสภาพตลาดต่างประเทศ

ในขณะที่การกำหนดเกณฑ์ยืนยันตัวตนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้ อาจช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากการพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในบางช่วง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงนี้ แต่หากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง มีความตึงเครียดหรือเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลให้เงินบาทมีความผันผวน

ทั้งนี้ระหว่างวัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ระหว่าง 30.25-30.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/11) ที่ระดับ 1.1873/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 1.860/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ประกาศไม่ต่ออายุโครงการเงินกู้ของเฟดวงเงิน 4.55 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าเฟดมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคต

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1849-1.1878 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1870/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเข้าวันนี้ (23/11) ที่ระดับ 103.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึันจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 103.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้ตลาดญี่ปุ่นปิดทำการเนื่องจากเป็นวันขอบคุณแรงงาน

ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.70-103.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 103.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีเยอรมันไตรมาส 3/63 (24/11) ตัวเลขจีดีพีสหรัฐไตรมาส 3/63 (25/11) จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงาน (25/11) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (25/11) และยอดขายบ้านใหม่ (25/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.90/1.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.7/0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ