หุ้นเอเอ็มซี “BAM-CHAYO” โตต่ำ เอ็นพีเอขายยาก-เก็งปีหน้าหนี้เสีย​พุ่ง

หุ้น-การเงิน2

ส่องกำไรหุ้นกลุ่มรับจ้างบริหารหนี้ โบรกฯชี้ “BAM-CHAYO” ปีนี้กำไรวูบ-ระบายเอ็นพีเอไม่ออก ด้าน​ “JMT” โตเด่นสวนกระแส​ “บล.กสิกรไทย” มองปีหน้าทุกบริษัทโต 20-30% ยกแผง เหตุจบพักชำระดันเอ็นพีแอลในระบบพุ่ง “บรรยง” คาดหนี้เสียปีหน้าปูดอีก 1.34 ล้านล้านบาท ชี้ประเมินจากลูกค้า 20% ในกลุ่มพักหนี้ชำระไม่ไหว แย้มดัน​ BAM​ ร่วมทุนพันธมิตรลุยธุรกิจใหม่

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) มีแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาส 3-4 ปี 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้ดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 2 ที่ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยหุ้นที่ฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทยจัดทำบทวิเคราะห์ครอบคลุม ได้แก่ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM), บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) และ บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ซึ่งกำไรของ JMT และ CHAYO ออกมาดูดีกว่า BAM เนื่องจากเป็นกลุ่มบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan)

ซึ่งเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล (personal loan) โดยกลุ่มนี้มียอดกลับมาชำระดีต่อเนื่อง เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานเงินเดือนหรือพนักงานประจำ

ขณะที่ BAM จะเป็นกลุ่มที่บริหารหนี้ที่มีหลักประกัน (secured loan) พบว่าตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นมามีการกลับมาผ่อนชำระได้ดีขึ้นเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน (NPA) ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี อีกทั้งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายลดลง เนื่องจากคนไม่กล้าลงทุนแม้ยอดขายจะเริ่มฟื้นตัวจากช่วงล็อกดาวน์ก็ตาม

“ผู้ประกอบการที่ปรับการดำเนินธุรกิจไปยังหนี้สินประเภทแรกมากกว่า อย่าง JMT และ CHAYO จะกำไรสวยกว่า BAM ที่กำไรลดลงอย่างต่อเนื่องจากการที่ยังขายทรัพย์ NPA ออกไปไม่ได้” นายกรกชกล่าว

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย ยังแนะนำซื้อทั้ง 3 ตัวนี้ โดย BAM ราคาเป้าหมายที่ 25.00 บาท, JMT 42.00 บาท และ CHAYO 9.00 บาท ซึ่งหุ้นกลุ่ม AMC เป็นหุ้นที่นักลงทุนควรมีติดพอร์ตเอาไว้ เนื่องจากถือเป็นหุ้นสะเทินน้ำสะเทินบกทั้งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ที่ผู้ประกอบการจะมีโอกาสซื้อสินทรัพย์เข้ามาบริหารได้มากขึ้น หรือเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวก็ส่งผลให้ลูกหนี้กลับมาชำระได้ดีขึ้นด้วย

ส่วนแนวโน้มปี 2564 นายกรกชกล่าวว่า คาดว่าจะมีความต้องการขาย NPL และ NPA ในระบบเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงที่จบมาตรการพักหนี้ ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการทั้ง 3 รายระบุว่า แม้ว่าแนวโน้มราคาสินทรัพย์ทั้ง NPL และ NPA อาจไม่ได้ถูกลงมากนัก แต่ธุรกิจมีตัวเลือกมากขึ้น จากหนี้สินในระบบที่เพิ่มขึ้น หรือกล่าวได้ว่าได้ของดีมาบริหารในราคาเท่าเดิม

“จากแนวโน้มการเก็บเงินสดเริ่มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยประเมินว่าแนวโน้มกำไรปี 2564 ของกลุ่ม AMC จะปรับเพิ่มขึ้น 20-30% ทุกรายโดยคาดการณ์กำไรปี 2563 และปี 2564 ของ BAM ไว้ที่ 1,739 และ 3,659 ล้านบาทตามลำดับ ส่วน JMT อยู่ที่ 1,016 และ 1,330 ล้านบาท และสุดท้าย CHAYO อยู่ที่ 165 และ 227 ล้านบาท” นายกรกชกล่าว

ด้านนายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส จำกัดกล่าวว่า ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินภาพรวมหุ้น AMC จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ยาวไปจนถึงปี 2564 เริ่มจาก BAM ที่มีการขายสินทรัพย์ขนาดกลางถึงใหญ่ได้ประมาณ 4 ชิ้น โดยคาดว่าจะสามารถปิดการขายบางชิ้นได้ภายในปีนี้ แม้ว่าแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2563 อาจลดลง 69.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่เชื่อว่าปี 2564 จะกลับมาเติบโตได้ 60.2% YOY จากฐานที่ต่ำ

ขณะที่ JMT โดดเด่นที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากกำไรปี 2563 ยังเติบโตได้ดีสวนทางตลาด และคาดว่าปี 2564 จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องหลังบริษัทมีการขยายพอร์ตหนี้ที่บริหารและสามารถจัดเก็บรายได้มากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2563 กำไรสุทธิจะเติบโตขึ้น 44% YOY และในปี 2564 จะโต 28% YOY

“แม้ว่า JMT จะโดดเด่นที่สุด แต่เนื่องจากราคาหุ้นปรับขึ้นเกินราคาเป้าหมายปี 2563 และ 2564 ที่ 31.00 บาท และ 36.00 บาท จึงแนะนำสับเปลี่ยนไปซื้อ BAM ที่ราคาเป้าหมาย 26.00 บาท” นายเอนกพงศ์กล่าว

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร BAM กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทขอมติผู้ถือหุ้นเพื่อระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปซื้อ NPL และ NPA จากธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันใช้วงเงินไปแล้วประมาณ 9,900 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2563 จะใช้วงเงินหุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มตลาดในปี 2564 คาดว่าจะมีหนี้ในระบบออกมาขายรวมประมาณ1.84 ล้านล้านบาท หลังจากที่สินเชื่อทั้งระบบมูลค่ารวม 16.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการขอพักชำระหนี้ไป 6.7 ล้านล้านบาท โดยบริษัทตั้งสมมุติฐานว่าจะมีสัดส่วนหนี้สินประมาณ 20% หรือ 1.34 ล้านล้านบาทที่ไม่สามารถกลับไปชำระได้ตามปกติ จากหนี้ในระบบที่ AMC บริหารอยู่แล้วทั้งสิ้น 5.09 แสนล้านบาท

นายบรรยงกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตในปี 2564 ที่ 5-10% อย่างไรก็ดี เนื่องจากธุรกิจ AMC มีการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงมีแผนต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้รูปแบบใหม่อีกด้วย


“ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรกลุ่มโรงพยาบาล เพื่อร่วมทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับบ้านผู้สูงอายุ โครงการ “The De Val” จังหวัดนครนายก โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทอยู่แล้ว และพันธมิตรจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริการทางการแพทย์เข้ามาเสริมในการบริหารโครงการ” นายบรรยงกล่าว