แบงก์เข้มสินเชื่ออสังหา-SMEs ตลาดเดือดปล่อยกู้ผ่านแอป

ปล่อยกู้ผ่านแอป

ยอดปล่อยสินเชื่ออสังหาฯหด ไตรมาส 3 โต 2.7% ดีเวลอปเปอร์แตะเบรกลงทุน สถาบันการเงินสกรีนเข้มเครดิต ตลาดฝืดแข่งดัมพ์ดอกเบี้ยแย่งลูกค้าดี ปี’64 เอสเอ็มอีเหนื่อยยาว งัดแผนเน้นประคองสินเชื่อ “กสิกรไทย” เจาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ปล่อยกู้บน K PLUS “ไทยพาณิชย์” ชูแพลตฟอร์มต่อยอดลูกค้า

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ชะลอตัวเมื่อเทียบปีก่อนที่ขยายตัวได้ 3.7% โดยเริ่มเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อในไตรมาสที่ 3 ที่สินเชื่ออสังหาฯเติบโต 2.7% จากครึ่งปีแรกขยายตัวไตรมาสละ 5% ส่วนหนึ่งมาจากการชำระคืนหนี้บางส่วนหลังโควิดเริ่มผ่อนคลาย รวมถึงกิจกรรมในภาคที่อยู่อาศัยอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจ กับสถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังความเสี่ยงเครดิตของลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

เบรกขอสินเชื่อ-ออกบอนด์

นอกจากการยื่นขอสินเชื่อพัฒนาโครงการอสังหาฯจะชะลอลงแล้ว ช่องทางระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ใหม่ของธุรกิจอสังหาฯก็ออกได้น้อยลงด้วย จากตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การออกตราสารหนี้ใหม่ 3 ไตรมาสแรกปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท/ไตรมาส ชะลอลงจากปีก่อนที่ 7.05 หมื่นล้านบาท/ไตรมาส เนื่องจากตลาดผันผวนและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

“ดูในแง่ยอดสินเชื่อคงค้างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือ ยอดสินเชื่ออสังหาฯคงค้าง ณ ไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 7.36 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2562 ที่ 9.69 แสนล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ ไตรมาส 2 อยู่ที่ 3.84% จากไตรมาส 4 /2562 ที่ 3.97% ส่วนหนึ่งมาจากฐานสินเชื่อที่ขยายเพิ่มขึ้น แต่หากดูในแง่ยอดเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 3.08 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 3.20 หมื่นล้านบาท”

แบงก์แย่งลูกค้าดีดัมพ์ดอกเบี้ยแข่ง

นายสำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯใหม่ปีนี้ทรงตัว ยอดคงค้างสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนใหม่ โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯชะลอตัวการเปิดโครงการใหม่ และเร่งระบายสต๊อกในมือ คาดว่าจะใช้เวลาระบายสต๊อก 2 ปี ส่วนแนวราบการซื้อที่ดินน้อยลง การขอสินเชื่อหมุนเวียนก่อสร้างก็น้อยลงด้วย จะลงทุนเฉพาะที่ขายได้เท่านั้น

“การปล่อยสินเชื่อใหม่ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะสินเชื่อรายย่อยแบงก์ก็ระมัดระวังปล่อยกู้ ส่วนกลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ไม่อยากซื้อ ช่วงนี้ทุกแบงก์จะมุ่งเน้นไปหาลูกค้าที่มีคุณภาพ จะเห็นการดัมพ์ดอกเบี้ยแข่งกัน เพราะกลุ่มลูกค้าดีมีไม่มาก”

ปรับตัวลดต้นทุนประคองธุรกิจ

ขณะที่ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากการติดตามลูกค้าอสังหาฯใกล้ชิดยังไม่พบสัญญาณความผิดปกติในการชำระหนี้ หรือขอความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทยอยปรับตัวหลังจากโควิด ทั้งปรับขนาดและรูปแบบโครงการใหม่ เลือกพัฒนาโครงการที่ตลาดยังมีความต้องการ รวมถึงลดต้นทุนประคองธุรกิจ

สอดคล้องกับที่นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี ระบุลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาฯค่อนข้างระมัดระวังตัว ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ยังทรงตัวไม่เติบโต ลูกค้าเองไม่ต้องการสินเชื่อใหม่ เพราะอยู่ระหว่างเร่งระบายสต๊อก ชะลอเปิดโครงการใหม่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ประคองธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวได้ แต่รายกลางและรายเล็กยังได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง

ส่วน นางสาวชมพูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank มองแนวโน้มภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 2564 จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ลูกค้าจะให้ความสนใจที่อยู่อาศัยในแนวราบมากกว่าคอนโดฯ ทำให้ตลาดนี้ขยายตัวได้ดี ส่วนปีนี้ยังเผชิญความท้าทายหลายปัจจัย ทั้งโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอกระทบกำลังซื้อ แม้เห็นการฟื้นตัวแต่ยังชะลอตัว ภาพรวมสินเชื่ออสังหาฯของธนาคารเติบโตที่ 5% ส่วนหนึ่งมาจากโครงการพันธมิตรเปิดให้เข้าไปให้บริการลูกค้ามากขึ้น

K แบงก์ปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์ม

ที่สถาบันการเงินตั้งการ์ดคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อยิ่งกว่าธุรกิจอื่น ๆ คือ สินเชื่อเอสเอ็มอี นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมรายได้ของธนาคารในปี 2564 ยังคงมาจากสินเชื่ออยู่ แต่จะไปในกลุ่มที่ไม่เคยไป เช่น ไม่ใช่กลุ่มมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชื่อว่ายังไม่มีสถาบันการเงินหรือธนาคารไหนไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็อยู่ที่ว่าใครจะเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ดีกว่าและเร็วกว่า ซึ่งก็น่าจะช่วยในเรื่องรายได้ แต่ยอมรับว่าในสภาพเศรษฐกิจที่อาจจะยังไม่ได้ขยายตัวมาก จะเห็นว่าผู้ถือหุ้นก็รู้ว่ารายได้คงไม่ได้เท่าก่อนโควิด-19

“เคแบงก์มีอะไรที่หลาย ๆ ที่ไม่มี เช่น ความพยายามที่เราจะไปปล่อยสินเชื่อตัวเล็ก ๆ ข้างล่าง และเรื่องของภูมิภาค (regional) ที่ยังไม่มีใครมี footprint เท่าเราในแบบเรา ธนาคารอื่นอาจจะมีสาขาต่างประเทศเยอะแล้ว แต่ยังไม่มีกลยุทธ์ชัดเท่าเราก็ได้ว่าจะทำมาหากินอะไร แต่ของเราอย่างน้อยยังมีทิศทางและความพยายาม แม้ว่า 3 ปีจะยังไม่เห็นอะไร เช่น LINE BK เราพยายามมาปีหนึ่งแล้ว สะท้อนว่าสิ่งที่เราทำมาทยอยมาให้เห็น แม้ว่าเศรษฐกิจะเป็นแบบไหนเราก็ไม่เคยหนี เราจึงมี 2 ทีม คือ ทีมสู้ แก้ไขหนี้ช่วยลูกค้าก็ช่วยไป และทีมที่คิดไปข้างหน้าก็ทำไป”

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปีนี้อาจเห็นการเติบโตสูง จากมาตรการปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จำนวนมาก และมีลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือ ทำให้ยอดการชำระหนี้คืนน้อย ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมเอสเอ็มอีปี 2564 จะเห็นลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือทยอยกลับมาชำระหนี้ และการปล่อยสินเชื่อใหม่อาจไม่ขยายตัวมากนัก

แผนปีหน้าจะเน้นปล่อยสินเชื่อกลุ่มที่สามารถปล่อยได้ เช่น มนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ (data analytic) ในการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ทั้งธนาคารปล่อยเองหรือลูกค้าสมัครผ่านดิจิทัล โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมาสาขาสามารถทำบนแอปพลิเคชั่นได้เอง

“ปีหน้าเราจะหันมาปล่อยลูกค้ารายเล็กลง จากเดิมที่มองลูกค้ารายกลาง เนื่องจากดิจิทัลมีความพร้อมมากขึ้น จากเดิมหาลูกค้ารายเล็กไม่คุ้มต้นทุน แต่หลังมี K PLUS เราเห็นข้อมูลลูกค้าที่มีการซื้อขายผ่านออนไลน์ 6 เดือน และมีแนวโน้มจะขยายธุรกิจ เราก็เสนอวงเงินสินเชื่อให้ และทุกธนาคารจะเดินไปทางนี้หมด”

ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีใหม่กว่า 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 5.5 หมื่นล้านบาท หรือ 25% เป็นส่วนที่มาจากการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการต่าง ๆ ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท เติบโต 5.5% จากสิ้นปี 2562

SCB โฟกัสกลุ่มมียอด 75-500 ล.

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการอาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 2564 จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มียอดขาย 75-500 ล้านบาท คงไม่ได้ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ แต่จะเน้นประคองพอร์ตสินเชื่อให้อยู่ในระดับเดิม เน้นดูแลลูกค้าเก่า ส่วนลูกค้าใหม่ต้องระมัดระวังมากขึ้น กลุ่มที่ยังมีโอกาสเติบโต อาทิ กลุ่มสุขภาพ รับเหมาก่อสร้าง และซัพพลายของธนาคาร กลยุทธ์หลักจะนำฐานข้อมูล (data) มาใช้มากขึ้น และขยายฐานลูกค้าบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ธนาคารพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อยอดฐานลูกค้าและปล่อยสินเชื่อในอนาคต

ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีใหม่กว่า 4.2 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 4.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าช่วงไตรมาสที่ 4 จะปล่อยได้เพิ่มอีก 2,000-3,000 ล้านบาท เกินเป้าที่ 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างทรงตัวอยู่ในระดับ 2.6 แสนล้านบาท

ปี’64 เอสเอ็มอียังอาการหนัก

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 2564 ยังคงยากลำบาก เนื่องจากยังมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ยังต้องพึ่งพาตลาดท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้มีธุรกิจที่ยังไม่ได้มีการปรับตัวสู่ดิจิทัลจะมีปัญหาด้านการแข่งขันเช่นกัน ขณะที่กำลังซื้อยังไม่มา การเติบโตของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีจะไม่ขยายตัวมาก แต่สัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นกว่าช่วงที่มีล็อกดาวน์